เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พร้อมด้วย ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU) ในการพัฒนาศักยภาพและการเชื่อมโยงเนื้อหาเรียนรู้เพื่อผู้ประกอบการ ระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยมี ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ สสว. และ รศ.ดร.ณัฐภพ นิ่มปิติวัน รองอธิการบดีสายวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ม.กรุงเทพ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 1801 ชั้น 18 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อาคารทีเอสที ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
การพัฒนาประเทศภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในทุกมิติได้สร้างความพลิกผันและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวม ผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ และการพัฒนาทักษะใหม่ในการดำเนินธุรกิจเพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงและได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล จำเป็นต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ รวมถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ เติมเต็มและยกระดับศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขันในโลกธุรกิจในอนาคตโดยเฉพาะในช่วงยุคหลังโควิด 19 ที่เศรษฐกิจและสังคมมีความผันผวนสูง จึงได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพและการเชื่อมโยงเนื้อหาเรียนรู้เพื่อผู้ประกอบการ ในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 08.30-10.30 น. ณ ห้องประชุม 1801 ชั้น 18 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อาคารทีเอสที ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาโมเดลการเรียนรู้แบบใหม่ (New Synergy Model) พัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ทักษะด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ (Creative Innovation) ในการขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากฐานรากสู่สากลอย่างครบวงจร และลดช่องว่างทางการศึกษากับอุตสาหกรรมธุรกิจทุกรูปแบบ ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระหว่างวิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต เสริมทักษะความรู้ กับการทำงานจริงของผู้ประกอบการ สู่การยกระดับศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขันในโลกธุรกิจระดับสากล