ปัญหาที่ดูเหมือนว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยังคงไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและตรงจุด ท่ามกลางความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบรุนแรงถึงชีวิต โดยเห็นได้จากกรณีของ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “สู้ดิวะ” ที่พบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย แม้เขาจะไม่สูบบุหรี่และออกกำลังกายเป็นประจำ แต่สาเหตุของการป่วยการเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายนั้นอาจมาจากสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
แม้ว่าคณะรัฐมนตรี มีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ดูเหมือนว่า การดำเนินการแก้ปัญหานี้ยังคงไร้ผล
ไฟป่าลามหนัก ดันค่าฝุ่นพิษสูงต่อเนื่อง
สถานการณ์ไฟป่าขณะนี้ นับเป็นปัญหาที่ต้องจับตา ถึงอัยตรายของผู้คนที่อยู่ระแวกใกล้เคียง รวมถีงเจ้าหน้าที่ และปัญหาที่ pm 2.5 โดยที่จังหวัดเชียงใหม่รวมถึงจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะใน ‘ภาคเหนือ’ ขณะนี้ที่พุ่งสูงและยังไม่คลี่คลาย ช่วงเช้าวันนี้ยังเกิดไฟป่าขึ้นหลายจุด และนั่นคือหนึ่งในสาเหตุที่ดันค่าฝุ่นขึ้นสูงต่อเนื่อง
โดยข้อมูลล่าสุดเช้าวันนี้ (6 มี.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เชียงใหม่พบจุดความร้อนมากถึง 97 จุด กระจายใน 18 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ ขณะที่เว็บไซต์ IQAIR ที่จัดอันดับคุณภาพอากาศตามเมืองสำคัญทั่วโลก จัดอันดับคุณภาพเชียงใหม่แย่อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลกอีกด้วย
สำรวจ ‘จุดความร้อน’ ประเทศเพื่อนบ้าน ไทยอันดับ 3
ขณะที่แผนที่แสดงจุดความร้อนจากดาวเทียม ที่เผยแพร่โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ข้อมูลเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ได้แสดงถึงจุดความร้อนรายประเทศ ดังนี้
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จำนวน 4564 จุด
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 3184 จุด
ประเทศไทย จำนวน 2230 จุด
สาธารธรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จำนวน 905 จุด
ราชอาณาจักรกัมพูชา จำนวน 828 จุด
ประเทศมาเลเซีย 29 จุด
อึ้ง ปี 2023 พบ กทม. อากาศดีเพียง 31 วัน!
จากข้อมูลของ Rocket Media Lab โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project ซึ่งค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดี คืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 31 วัน คิดเป็น 8.52% ของทั้งปี น้อยกว่าปี 2022 ที่มีอากาศดี 49 วัน และน้อยกว่าในปี 2021 ที่มีถึง 90 วัน
ในขณะที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นวันที่อากาศมีคุณภาพปานกลาง คือเกณฑ์สีเหลือง 241 วัน หรือคิดเป็น 66.21% ของทั้งปี แต่หากเทียบกับปี 2022 ที่มีอากาศในเกณฑ์สีเหลือง 261 วันแล้วก็นับว่าลดน้อยลงจากปีก่อนหน้า ส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษหรือสีส้มนั้นมี 78 วัน หรือคิดเป็น 21.43% ของทั้งปี มากกว่าปี 2022 ที่มีจำนวน 52 วัน และวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออยู่ในเกณฑ์สีแดงนั้นมีมากถึง 14 วัน หรือคิดเป็น 3.85% ของทั้งปี และเมื่อเทียบกับปี 2021 ที่มีเพียง 3 วัน กล่าวคือวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออยู่ในเกณฑ์สีแดงนั้นเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 11 วัน
คนไทยป่วย “ระบบทางเดินหายใจ” สูงขึ้นเกิน 30%
ข้อมูลจาก Rocket Media Lab ยังได้วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณค่าฝุ่น PM2.5 ปริมาณ 22 มคก./ลบ.ม. เทียบกับการสูบบุหรี่ 1 มวน ตามทฤษฎีของ Dr. Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ พบว่า ตลอดทั้งปี 2566 ชาว กทม. สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมด 1,379 มวน โดย มี.ค. เป็นเดือนที่สูงที่สุด 159 มวน
นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมอนามัย ยังเผยให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2563 – 2566 ทั่วประเทศมีอัตราผู้ป่วย “โรคระบบทางเดินหายใจ” สูงขึ้น 33.9% โรคหัวใจขาดเลือด 46% โรคตา 20 % โรคผิวหนัง 9.1% และพบว่าแนวโน้ม “โรคมะเร็งปอด” เพิ่มสูงขึ้นแม้ในคนไม่สูบบุหรี่ ที่น่าห่วงคือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทย โดยคาดว่าในปี 2573 คนไทยจะเสียชีวิตจากมะเร็งปอด มากถึง 2.89 ล้านคน
รัฐถึงเวลาทบทวน? หลังแผนผลักดันแก้ปัญหาฝุ่น ไม่สำเร็จตามตัวชี้วัด
ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2562 -2567 ซึ่งเป็นแผนแม่บทของรัฐบาลในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย
โดยในแผนวาระฝุ่นแห่งชาติ 2562 มีการกำหนดตัวชี้วัดไว้ 3 ข้อด้วยกันคือ
1) จํานวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น
2) จํานวนจุดความร้อน (Hotspot) ภายในประเทศลดลง
3) จํานวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ (ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ) ลดลง
ข้อมูลจาก Rocket Media Lab ได้กางตัวชี้วัดแต่ละข้อเพื่อสำรวจว่า ตัวชี้วัดของแผนวาระแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองนั้นเป็นไปตามแผนหรือไม่ โดยผลที่ได้คือ
ในตัวชี้วัดแรก จํานวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น เมื่อนำข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งมีรายงานว่าในปี 2563 มีจำนวนวันที่ค่าเฉลี่ย PM2.5 เกินมาตรฐาน 70 วัน ซึ่งลดลงเรื่อยๆ ในปีต่อมา คือ 67 วัน และในปี 2565 เหลือเพียง 26 วัน ก่อนจะสูงขึ้นในปี 2566 จำนวน 52 วัน ในขณะที่จากการรวบรวมข้อมูลโดย Rocket Media Lab ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก AQI พบว่าในปี 2563 มีวันที่อากาศดี 71 วัน และเพิ่มขึ้นในปีต่อมาเป็น 90 วัน ก่อนที่ในปี 2565 จะลดลงเหลือเพียง 49 วัน และลดลงอีกในปี 2566 เหลือเพียง 31 วัน
จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลา 4 ปีผ่านมา แม้จะมีช่วงปีที่ค่าเฉลี่ย PM2.5 ลดลง หรือมีวันที่อากาศดีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น อย่างเช่นในปี 2564 ที่เพิ่มจากปี 2563 ขึ้นมาจาก 71 วันเป็น 90 วัน แต่ในปีต่อมาในปี 2565 และปี 2566 ที่ผ่านมาคุณภาพอากาศกลับแย่ลงอีกครั้ง
ส่วนของตัวชี้วัดที่ 2 เรื่องจํานวนจุดความร้อน (Hotspot) ภายในประเทศลดลง ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ จุดความร้อนในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 ซึ่งมีจำนวน 146,915 จุด เหลือเพียง 111,682 จุดและลดลงอย่างมากในปี 2565 เหลือเพียง 53,673 จุด ก่อนจะกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้งในปี 2566 จำนวน 178,203 จุด ซึ่งสูงขึ้นกว่า 4 ปีที่ผ่านมา
และในตัวชี้วัดที่ 3 จํานวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ (ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ) ลดลง จากข้อมูลของกระทรงสาธารณสุขพบว่า ตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจลดลงในปี 2564 เพียงปีเดียว โดยจากในปี 2563 ที่มีจำนวน 1,163,632 ราย ปี 2564 เหลือเพียง 712,342 ราย ก่อนจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2565 จำนวน 911,453 ราย และสูงขึ้นอย่างมากในปี 2566 จำนวน 2,293,667 ราย
โดยสรุป จะเห็นได้ว่า หากวัดความสำเร็จจากตัวชี้วัดทั้ง 3 ข้อ ข้อมูลในแต่ละประเด็นในปี 2566 ล้วนแสดงให้เห็นว่าแผนวาระฝุ่นแห่งชาติ ‘ไม่ประสบความสำเร็จ’ ตามตัวชี้วัดที่ได้ตั้งไว้