เป็นครั้งที่สองของการหารือระหว่าง สองกระทรวงคู่พิพาทระหว่าง ส.ป.ก.และทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปมพิสูจน์สิทธิที่ดินทับซ้อนในป่าเขาใหญ่
ซึ่งวานนี้ 4 มี.ค. เลขาธิการ ส.ป.ก. กับ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้เดินทางมาเคลียร์ใจกันด้วย แต่ทั้งคู่ยังสงวนท่าที และไม่มีใครยอมถอย
ถูกจับตาเป็นพิเศษในวงแถลงข่าวสองกระทรวง ระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะล่าสุด เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข สั่งการให้ รองเลขาธิการ ส.ป.ก. และ รักษาราชการแทน ส.ป.ก.นครราชสีมา ไปแจ้งความร้องทุกข์ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ และพวก กรณีถอนหลักหมุด ส.ป.ก. รวม 27 หมุด โดยอ้างว่า อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
การพูดคุย จึงเป็นการเคลียร์ใจของทั้งคู่ นายวิณะโรจน์ บอกว่า แค่มองกันต่างมุม ระหว่างการอนุรักษ์ และ ผลประโยชน์ที่ทำกิน ของเกษตรกร จึงต้องรอให้การแบ่งแนวเขตชัดเจนขึ้นในอีก 2 เดือน จึงจะมีความเข้าใจยิ่งขึ้น
“ชัยวัฒน์” สู้ก่อนเกษียณ ย้ำต้องมีคนผิด
ขณะที่นายชัยวัฒน์ บอกว่า ไม่ได้แปลกใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าต้องถูกแจ้งความ และเคยให้สัมภาษณ์ตั้งคำถามไปที่ ส.ป.ก.แล้วว่า ถ้าหมุดเป็นของจริง ถ้ามั่นใจว่าถูกต้อง ทาง ส.ป.ก.ต้องแจ้งความกลับ
ส่วนเรื่องวันแมป นายชัยวัฒน์ จะยอมรับต่อเมื่อเกิดการพิสูจน์ร่วมกันของ 9 หน่วยงาน แต่ถ้าเป็นแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร เพียงหน่วยเดียว ถือว่า ไม่ได้ผ่านการหารือร่วมกัน
การพูดคุยในวันนี้มีการเปิดใจหลายเรื่อง นายชัยวัฒน์บอกว่า ที่ผ่านมาเคยติดต่อกับ ส.ป.ก. เพื่อถามปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไปหลายครั้ง แต่ไม่เคยตอบรับ จึงเกิดปัญหาบานปลาย พร้อมเดินหน้าสู้ก่อนเกษียณ งานนี้ขอใช้คำว่า จบไม่หล่อ คือ ไม่มีการต่างคนต่างถอย ต้องมีคนผิด เมื่อมีคำตัดสินจากวันแมป
การตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวเขตการจัดที่ให้แก่เกษตรกร ที่ ส.ป.ก. เพิ่งมีคำสั่งไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกแห่งในฐานะประธาน ส.ป.ก.จังหวัด ตรวจสอบแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร เป็นที่ดินที่ไม่เคยจัดให้แก่บุคคลใด เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน
เอกสารฉบับนี้ นายวิณะโรจน์ เลขาธิการ ส.ป.ก. เพิ่งนำมาเปิดเผย พร้อมบอกว่า ได้สั่งการกับ ส.ป.ก.ทุกจังหวัดแล้ว จากนี้ เอกสารอนุญาตทำกิน ของส.ป.ก. ก่อนเซ็นรับต้องมีหลักฐานแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาเปรียบเทียบ เพื่อป้องกันปัญหา
ส่วนคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นจะมีตัวแทนจาก 9 หน่วยงาน คือ กรมป่าไม้ / กรมอุทยานแห่งชาติฯ / กรมพัฒนาที่ดิน / กรมการปกครอง / กรมที่ดิน / กรมธนารักษ์ / กรมส่งเสริมสหกรณ์ / กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ / กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ภายใน 2 เดือน จะตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนป่าเขาใหญ่และในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง ให้เสร็จ ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. กำหนดสร้างเป็นวันแมป แต่ยืนยันหากพื้นที่ใดเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ป่า หรือ เป็นทางเชื่อมป่า ส.ป.ก.จะยกเว้นไว้ และอาจเพิกถอนสิทธิ์กันไว้เป็นป่าชุมชน ส่วนการเยียวยาเกษตรกร ต้องพิสูจน์สิทธิ์กันอีกรอบ ว่าเป็นผู้ยากไร้หรือคนในพื้นที่จริงหรือไม่