คัดลอก URL แล้ว
กางไทม์ไลน์ ‘ถนนพระราม 2’ 54 ปี จนถึงวันนี้ ทำไมยังไม่เสร็จ?

กางไทม์ไลน์ ‘ถนนพระราม 2’ 54 ปี จนถึงวันนี้ ทำไมยังไม่เสร็จ?

เกิดเป็นคำถามของสังคมไทยซ้ำแล้วซ้ำอีกกับการก่อสร้าง ‘ถนนพระราม 2’ ที่จนถึงวันนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะแล้วเสร็จ ทั้งที่เริ่มต้นก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2513 และมีการขยายโครงการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลามากกว่า 54 ปีแล้ว ที่ทุกคนต่างเฝ้ารอวัน ที่จะได้ใช้ถนนแห่งนี้อย่างเต็มระบบ กับการก่อสร้างที่ไม่เพียงแต่กินเวลานานกว่าหลายทศวรรธ คำถามถึงความปลอดภัยในการเดินทาง ปัญหารถติด และอีกมากมายกับถนนสายนี้

ถนนพระรามที่ 2 หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายดาวคะนอง–วังมะนาว มีโครงการก่อสร้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการทั้งหมด 3 โครงการ ได้แก่

1) โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย รับผิดชอบโดย ทล.

2) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว รับผิดชอบโดย ทล.

และ 3) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก รับผิดชอบโดย กทพ. ซึ่งทั้ง 3 โครงการ มีความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้ทดลองใช้บริการภายในปี 2568

กางไทม์ไลน์ 50 ปีก่อสร้างถนนพระราม 2

ข้อมูลจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุไทม์ไลน์ของการก่อสร้างถนนพระราม 2 โดยเริ่มขึ้นในปี 2513 – 2516  เริ่มก่อสร้างถนนพระราม 2 เป็นลักษณะถนน 2 เลน สวนทางกัน เปิดใช้ทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2516

(รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร)

ปี 2532 – 2537 ขยายถนนจาก 2 เลนเป็น 4 เลน พร้อมก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และวังมะนาว

(รัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ, อานันท์ ปันยารชุน, พลเอก สุจินดา คราประยูร, อานันท์ ปันยารชุน และชวน หลีกภัย)

ปี 2539 – 2543 ขยายถนนช่วงสามแยกบางปะแก้วถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน เป็น 14 เลน

(รัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา, พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ, และชวน หลีกภัย)

ปี 2544 – 2546 ขยายช่องจราจรจาก 4 เลน เป็น 8 และ 10 เลนตามลำดับ ระหว่างทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน–นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ความยาวรวมประมาณ 22 กม.

(รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร)

ปี 2549 – 2552 ก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายจนถึงทางแยกต่างระดับวังมะนาว จากเดิม 4 เลน เป็น 6-8 เลน

(รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์, สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, ชวรัตน์ ชาญวีรกูล และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

ปี 2561 – 2563 ขยายถนนพระรามที่ 2 ระหว่างแยกต่างระดับบางขุนเทียน-แยกเอกชัย จาก 10 เลน เป็น 14 เลน

(รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

ปี 2562 – 2565 ทางยกระดับบางขุนเทียน – มหาชัย เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนสิงหาคม

(รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

ปี 2563 – 2566 ทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง –วงแหวนรอบนอกตะวันตก

(รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  และเศรษฐา ทวีสิน)

รัฐมนตรีคมนาคม ชี้เหตุล่าช้า เพราะ ‘ผู้รับเหมาขาดสภาพคล่องทางการเงิน’ ยัน เสร็จทันสงกรานต์นี้!?

ล่าสุด สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงกรณีการก่อสร้างถนนพระราม 2 ล่าช้า ระบุเพราะมีสัญญาก่อสร้าง 10 สัญญา ระยะเวลาก่อสร้างเริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ปี 65 ถึงมกราคม 68 และได้ขยายสัญญาจนถึงมิถุนายน 68

โดยยอมรับว่า มีความล่าช้ากว่าสัญญาประมาณ 10% เพราะผู้รับเหมาขาดสภาพคล่องทางการเงิน, ขณะที่กรมทางหลวง อนุญาตให้ทำงานเฉพาะช่วงกลางคืนในบางจุด เพื่อเลี่ยงปัญหารถติด 

ส่วนฉายาถนนเจ็ดชั่วโคตรนั้น เพราะที่ผ่านมา การขยายถนนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้คิดถึงปัญหารถติดในอนาคต ดังนั้น การก่อสร้างถนนยกระดับลอยฟ้าที่จะไปสิ้นสุดที่บ้านแพ้ว ได้ให้กรมทางหลวงไปศึกษาเพื่อขยายต่อถึงแยกวังมะนาว โดยให้สามารถเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนจากนครปฐมไปชะอำของการทางพิเศษฯ หากทำได้เชื่อว่าการเดินทางไปหัวหินจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ส่วนการคืนพื้นผิวจราจรถนนพระราม 2 ยืนยันว่าจะทันช่วงสงกรานต์นี้   

เปิดสถิติ 6 ปี อุบัติเหตุถนนพระราม 2 ทะลุ 2,000 ครั้ง ดับ 132 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระยะหลังอุบัติเหตุและผลกระทบจากการก่อสร้าง ที่ไม่ปลอดภัยจากโครงการขนาดใหญ่ มักเกิดขึ้นให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ที่ยาวนานมากกว่า 50 ปี ทั้งจากโครงการขยายถนน และการก่อสร้างเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการซ่อมแซมถนนได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนที่อาศัยบริเวณนี้และผู้ใช้รถสัญจรไปมา

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่าในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2561 – ม.ค. 2567 ถนนพระราม 2 เกิดอุบัติเหตุรวมกันถึง 2,242 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บรวม 1,305 ราย และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต 132 ราย ซึ่งจากข้อมูลพบว่าหลายกรณีเกิดจากวัสดุก่อสร้างร่วงลงมาทับ จนได้รับอันตรายบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งคนงานในพื้นที่ก่อสร้าง และประชาชนที่สัญจรผ่านเส้นทางนี้

สภาผู้บริโภค” จี้เพิ่มความปลอดภัย – เร่งก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็ว

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 50 ปี เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่ความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภคและผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน แม้จะมีผู้บริโภคที่เดินทางในเส้นทางดังกล่าวออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในโชเซียลมีเดียถึงความไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยในการเดินทาง อีกทั้งสภาผู้บริโภคเคยแถลงข่าว รณรงค์ และส่งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดจัดการปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน

“สิ่งที่น่ากังวลคือ การก่อสร้างมีแนวโน้มว่าจะล่าช้าจากกำหนดเดิมออกไป โดยที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถกำกับ เร่งรัด หรือควบคุมเรื่องระยะเวลา คุณภาพ รวมถึงความปลอดภัยของการก่อสร้างได้เลย” คงศักดิ์ระบุ