หลังศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งย้ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ไปอยู่วิทยาเขตอื่น ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2565 สืบเนื่องจากการทะเลาะวิวาทจนส่งผลกระทบต่อโรงเรียน และพื้นที่รอบข้าง
ล่าสุดวันนี้ ( 27 กุมภาพันธ์ 2567 ) ศิษย์เก่า นักศึกษาปัจจุบัน อาจารย์ ‘อุเทนถวาย’ หลายพันคน เดินเคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.ตะวันออก) เขตพื้นที่อุเทนถวาย นัดรวมตัวกันกว่า 3,000 คน เดินเท้าไปยื่นเรื่องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนายกรัฐมนตรี ให้ระงับคำสั่งดังกล่าว
โดยในช่วงเช้า ขบวนเครือข่ายฯ ได้เริ่มรวมพลที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย โดยมีการทำพิธีบวงสรวง องค์พระวิษณุกรรม พร้อมกับตั้งขบวนแถว ถือธงประจำสถาบัน มีทั้งเดินเท้า ขบวนรถมอเตอร์ไซค์ และรถเครื่องเสียงประกาศเจตจำนงค์ของการเดอนขบวน และเรียกกำลังใจตลอดเส้นทาง
จุดแรกที่ขบวนได้เคลื่อนไป คือ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อยื่นหนังสือถึง ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีฯ พร้อมกับมีตัวแทนนักศึกษาศิษย์ปัจจุบัน อ่านคำแถลงการณ์ โดยมีใจความว่า
เนื่องด้วยที่ดินพิพาทอันเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขต พื้นที่อุเทนถวายถนนพญาไท อยู่บนที่ดินเดียวกับทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัย โดยพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เฉพาะกิจการการศึกษาของสยาม โดยมีการก่อสร้างอาคารสำหรับให้ประชาชนได้ใช้ร่วมกัน การอุทิศดังกล่าวมีผลเป็น กฎหมายตามรูปแบบการปกครองในขณะนั้น การเปลี่ยนแปลงนำที่ดินพิพาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่รัชกาลที่ 6 ทรงอุทิศย่อมมิอาจกระทำได้
คณะนักศึกษาปัจจุบันไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับการดำเนินการโดยไม่เป็นธรรม ขาดธรรมาภิบาล เพราะมีใช่การแก้ปัญหาโดยแสดงให้เห็นว่า ปฏิบัติต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วยความเป็นธรรม ด้วยการย้ายสถาบันการศึกษาออกจากพื้นที่การศึกษาย่านที่ดินพิพาท
แต่กลับมีวัตถุประสงค์แฝงเร้นมุ่งย้ายสถานศึกษาเขต พื้นที่อุเทนถวายจากที่ดินพิพาทแต่เพียงฝ่ายเดียวตลอดมา ทั้งๆที่การย้ายสถานศึกษาเป็นคนละเรื่องกัลกรณีบุคคลภายนอกซ่องสุมก่อการให้มีภาพการก่อเหตุร้ายต่อนักศึกษาทั้งสองสถาบัน อันเป็นการกระทำที่ก่อความรู้สึกต่อชาวอุเทนถวายว่าถูกกระทำฝ่ายเดียว โดยไม่เป็นธรรม รังแต่จะก่อปัญหาให้ขยายใหญ่โตบานปลาย
จากนั้น ขบวนได้เคลื่อนต่อไปยัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเข้าพบ นางสาวศุภมาศ อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ส่วนกิจกรรมในช่วงจนถึงช่วงเย็น ขบวนเครือข่ายฯ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ประมาณ 1800 คน จะไปปักหลักที่ลานประชาชน ด้านหน้ารัฐสภา ที่ติดกับแยกเกียกกาย เพื่อยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนอีกกลุ่ม ที่จะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล จะเดินทางด้วยรถตู้ ประมาณ 20 คน นอกนั้นจะขับรถมอเตอร์ไซค์ 60 คัน โดยจะมีตัวแทนเข้ายื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
ภาพ – วิชาญ โพธิ