นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลทำบุญวันมาฆบูชาที่กำลังจะมาถึงนี้ อาจจะเป็นช่วงเวลาที่มิจฉาชีพหาช่องว่างจากพุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาในการทำบุญ บำรุงพุทธศาสนา
โดยมิจฉาชีพอาจขอให้ท่านโอนเงินออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ หลอกให้โอนเงินทำบุญผ่านออนไลน์ เวียนเทียนออนไลน์ สะเดาะเคราะห์ แก้กรรม ดูดวงออนไลน์ เช่าวัตถุมงคล เครื่องราง ของขลังออนไลน์ รวมถึงการขอให้ซื้อของเพื่อบริจาคออนไลน์ เป็นต้น โดยพฤติกรรมของมิจฉาชีพจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น หลอกให้โอนเงินก่อนแล้วค่อยส่งสินค้ามาให้ และมีการส่งสินค้าไม่ตรงปกให้กับลูกค้าปลายทาง หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นรีโมท เพื่อมิจฉาชีพสามารถควบคุมมือถือได้จากอินเทอร์เน็ตและมีการถอนเงินออกจากบัญชีผ่านเครือข่ายออนไลน์ในชั่วพริบตา
นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังมีการหลอกให้โอนเงินโดยให้บัญชีปลอม รวมถึงหลอกขอชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด รูปถ่าย หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหมายเลขบัตรเครดิต หมายเลขบัญชีของผู้เสียหาย หรือสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่ต่างๆ และโทรศัพท์เพื่อหลอกให้กรอกส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งจากการกระทำของมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ อาจส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายกับทุกท่านได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก
โดยทางศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC 1441) ได้ยกเคสตัวอย่าง คดี : หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ ในช่วงวันที่
17-22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ทางศูนย์ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย จำนวน 4 คดี
โดยคดีแรก มูลค่าความเสียหาย 1,545,348.98 บาท รายละเอียดคดีพบว่า ผู้เสียหายได้ไปเจอในเฟสบุ๊ค ชักชวนให้ทำบุญ โดยโอน 100 บาทจะได้รับผ้าปูที่นอน เมื่อทำไปแล้วมิจฉาชีพส่งลิงก์มาให้เพื่อกดรับผ้าปูที่นอน ผู้แจ้งกดเข้าไปในลิงก์นั้นจะมีการชักชวนให้บริจาคเพื่อรับปันผลเพิ่ม ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเข้าไปเรื่อย ๆ จนเป็น VIP โดยผู้เสียหายประสงค์จะถอนเงินออก ไม่สามารถถอนได้เนื่องจากมิจฉาชีพอ้างว่าเกิดความผิดพลาด ให้โอนเพื่อแก้ไขความผิดพลาดเมื่อโอนไป มิจฉาชีพอ้างว่าต้องเสียภาษี จึงทำการโอนไปอีกครั้ง สุดท้ายไม่สามารถติดต่อคนร้ายได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 มูลค่าความเสียหาย 96,000 บาท รายละเอียดคดีพบว่า ผู้เสียหายได้ถูกหลอกลวงลักษณะให้ร่วมทำบุญแล้วจะได้รับผลตอบแทน โดยมีการให้โอนเงินค่าทำบุญไปเรื่อย ๆ จึงมั่นใจว่าต้องถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ
คดีที่ 3 มูลค่าความเสียหาย 35,000 บาท รายละเอียดคดีพบว่า มิจฉาชีพได้โทรเข้ามาหาผู้เสียหายแจ้งว่า เป็นลูกค้าชั้นดีของลาซาด้า ขอแอดไลน์เพิ่มเพื่อนหลังจากนั้นให้เลือกของสมนาคุณ ไม่มีการจัดส่งสินค้ามีการส่งข้อความทางไลน์ว่า สนใจร่วมทำบุญเรื่องคนพิการคนอยากไร้ ให้แอดไลน์เพิ่มเพื่อนไปอีกคนหนึ่ง โอนเงินร่วมบริจาค 10,000 บาทจะได้เงินคืนและจะผลตอบแทนมา พร้อมเชิญชวนโดยเห็นว่าได้เงินคืนก็โอนให้อีกแต่ไม่ได้เงินคืนและแจ้งว่าทำรายการโอนผิด ต้องให้โอนเงินเพิ่มอีก สุดท้ายไม่สามารถติดต่อคนร้ายได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 มีมูลค่าความเสียหาย 17,998 บาท รายละเอียดคดีพบว่า ผู้เสียหายได้ถูกหลอกลวงลักษณะ
โดนแกงค์ call center ให้โอนเงิน หลอกเป็นหัวหน้าให้โอนเงินไปเป็นค่าทำบุญ ต่อมาไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
“ผมขอให้ทุกท่านอย่างหลงเชื่อ การขอข้อมูลจากคนแปลกหน้า หรือโอนเงินให้กับคนไม่รู้จักหรือไม่น่าเชื่อถือในรูปแบบต่างๆ ท่านอาจจะสูญเสียทรัพย์สินได้ ขอให้ทุกท่านตระหนักและตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบก่อนเชื่อใจคนแปลกหน้า โดยเฉพาะเรื่องการโอนเงินและการให้ข้อมูลส่วนตัวกับมิจฉาชีพในช่วงเทศกาลทำบุญ หรือวันพระนี้
และหากท่านไม่มั่นใจในข้อมูลที่ท่านได้รับหรือการชักจูงในรูปแบบต่างๆขอให้ท่านติดต่อศูนย์ AOC 1441 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ และตำรวจไซเบอร์ในการกวาดล้างมิจฉาชีพในทุกรูปแบบ ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำบุญในช่วงเทศกาลวันมาฆบูชา ดีอีจะทำการปราบปรามมิจฉาชีพที่อยู่ในภาพนักบุญอย่างจริงจัง เพื่อลดการสูญเสียของประชาชนให้มากที่สุด ขอให้ทุกท่านมีสติก่อนโอนเงินทุกครั้ง เพื่อลดการสูญเสียของท่าน รัฐบาลจะหาวิธีที่ดีที่สุดมาป้องกันกับความเสียที่จะเกิดขึ้น”
นายประเสริฐ กล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 หรือหากประชาชนมีข้อสงสัยโดนหลอกออนไลน์สามารถโทรปรึกษา สายด่วน AOC 1441 และ GCC 1111 โทรฟรีตลอด 24 ชม.