ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องพัฒนามาตรการป้องกัน และช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงอย่างทันท่วงที หลังกรณีนายศิริชัย อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาฆ่าอำพลางศพ น.ส.ชลลดา มุธุวงศ์ หรือ นุ่น อายุ 27 ปี ภรรยาตัวเองจนเสียชีวิต ซึ่งเหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ย้อน เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ปี 67
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ยังคงมีให้เห็นตามหน้าสื่ออยู่ตลอดเวลา ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ว่า น.ส.ชลลดา หรือนุ่น มุธุวงศ์ อายุ 27 ปี ภรรยาของนายศิริชัยหายตัวไปท่ามกลางความสงสัยของสังคม โดยภายหลังช่วงเย็นวันที่ 17 ก.พ. นายศิริชัยได้พาภรรยาและลูกสาววัย 1 ขวบไปกินเลี้ยงวันเกิดเพื่อนบริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรมเลียบด่วนรามอินทรา กระทั่งร้านปิดเวลา 01.00 น. วันที่ 18 ก.พ. นายศิริชัยขับรถเก๋งบีเอ็มดับเบิลยู สีขาว กลับบ้านพร้อมกับ น.ส.ชลลดา ระหว่างทางเกิดทะเลาะกัน ภรรยาลงจากรถที่บริเวณถนนเลียบคลองประปา บริเวณมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อ.เมืองนนทบุรี ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวนายศิริชัยมาสอบสวนที่ สภ.ปากเกร็ด การสอบสวนเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ก่อนนายศิริชัยยอมรับสารภาพเป็นคงลงมือฆ่าภรรยา
ปี 2565 พบความรุนแรงในครอบครัว เผยแพร่ผ่านสื่อมากถึง 1,131 เหตุการณ์
ก่อนหน้านี้ ‘นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์’ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่าในปี 2565 มีรายงานข่าวความรุนแรงในครอบครัว เผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ มากถึง 1,131 เหตุการณ์ เพิ่มจากปี 2564 ที่มี 373 เหตุการณ์ ปี 2563 มี 593 เหตุการณ์ ปี 2561 มี 623 เหตุการณ์ และปี 2559 มี 466 เหตุการณ์
ลักษณะที่พบมากสุดในปี 2565 คือ
1 – ฆ่ากัน 534 เหตุการณ์ 47.2%
2 – ทำร้ายกัน 323 เหตุการณ์ 28.6%
3 – ปลิดชีพตนเอง 155 เหตุการณ์ 13.7%
4 – ความรุนแรงทางเพศ 64 เหตุการณ์ 5.6%
5 – ความรุนแรงในครอบครัว 55 เหตุการณ์ 4.9%
ห่วงปัญหาครอบครัวถูกมองเป็นเรื่องส่วนตัว ใต้ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่
“ที่น่าห่วงคือการมองปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ภายใต้ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ การแก้ไขปัญหานี้สังคมต้องเริ่มต้นจากการป้องกัน โดยจับสัญญาณตั้งแต่ระยะแรก ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ พม. ต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ ให้มีทักษะในการจับสัญญาณความรุนแรงในครอบครัว เพื่อช่วยเหลืออย่างทันท่วงที” นางสาวจรีย์ กล่าว
ด้าน ‘ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม’ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การทำงานเชิงรุกเพื่อขับเคลื่อนประเด็น สะท้อนปัญหาและถอดบทเรียน จะนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไข เพราะหากไม่ป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อการมีสุขภาวะทั้ง กาย จิต ปัญญา และสังคม
เปิดสถิติความรุนแรงในครอบครัวในรอบ 7 ปี อึ้งสูงขึ้นทุกปี รวมกว่า 11,617 ราย
จากเอกสารสถิติความรุนแรงในครอบครัว ในรอบ 7 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2559 – 2565 เผยแพร่โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พบว่า ตัวเลขในรอบย้อนหลังของความรุนแรงในครอบครัวนั้นเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยตัวเลขชี้ว่า
ปี 2559 จำนวน 1,001 ราย
ปี 2560 จำนวน 1,309 ราย
ปี 2561 จำนวน 1,353 ราย
ปี 2562 จำนวน 1,564 ราย
ปี 2563 จำนวน 1,866 ราย
ปี 2564 จำนวน2,177 ราย
ปี 2565 จำนวน 2,347 ราย
รวมทั้งสิ้น 11,617 ราย
ขณะที่รายงานการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ประจำปีงบประมาณ 2566 เผยแพร่โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยว่า สถิติความรุนแรงในครอบครัว 76 จังหวัด และกรุงเทพฯ ประจำปี 2566 มีการให้ความช่วยเหลือกรณีความรุนแรงในครอบครัว ดำเนินการช่วยเหลือ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,312 ราย ขณะที่ในปี 2565 การให้ความช่วยเหลือกรณีความรุนแรงในครอบครัว อยู่ที่จำนวนทั้งสิ้น 2,361 ราย
ผลศึกษาชี้ 80% ความรุนแรงในครอบครัว ได้รับผลกระทบจากคนดื่มแอลกอฮอล์
จากข้อมูลผู้ขอคำปรึกษาของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ปี 2565 พบผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย โดยผู้กระทำส่วนใหญ่มี “แอลกอฮอล์” และ “สารเสพติด” เป็นตัวกระตุ้น ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นทางของปัญหา 4 มิติ ได้แก่
1 – ด้านสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์ โรคตับ โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน
2 – ด้านสังคมและวัฒนธรรม เกิดความรุนแรงในครอบครัว ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุทางถนน
3 – ด้านเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ทำให้สูญเสียค่ารักษาพยาบาลมหาศาล ประเทศขาดโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ
4 – ความรุนแรงในครอบครัว มีการศึกษาพบว่า 80% ได้รับผลกระทบจากคนที่ดื่มแอลกอฮอล์