คัดลอก URL แล้ว
รัฐบาล แถลง แก้ไขหนี้ทั้งระบบ ไกล่เกลี่ยสำเร็จกว่า 57%

รัฐบาล แถลง แก้ไขหนี้ทั้งระบบ ไกล่เกลี่ยสำเร็จกว่า 57%

วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 11.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกฯ กล่าวว่า ตามที่ได้มอบนโยบายเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ เป็นวาระแห่งชาติ ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ บูรณาการและประสานงานร่วมกันในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับประชาชนอย่างครบวงจร และแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จให้จบภายในรัฐบาลนี้

นายกฯ กล่าวว่า ผ่านมาประมาณ 2 เดือน หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการคืบหน้าไปมาก จึงขอถือโอกาสแถลงความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน เพื่อชื่นชมการทำงานของทุกหน่วยงาน ชี้แจงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น พร้อมแนวทางแก้ไข และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่กำลังประสบปัญหา แต่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ให้เร่งติดต่อหน่วยงานภาครัฐเพื่อขอรับความช่วยเหลือต่อไป

ซึ่งดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หรือ KPI ของการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน ประกอบไปด้วย 3 ข้อหลัก ๆ คือ 1. หนี้สินที่ได้รับการแก้ไขปัญหาจะต้องครอบคลุมทั้งในส่วนหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบไปพร้อมกัน 2. เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่มีการลงทะเบียนครบถ้วนจะต้องได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 100% และ 3. ลูกหนี้ที่ผ่านการไกล่เกลี่ยแล้วทุกรายจะต้องได้รับการพิจารณาสินเชื่อพิจารณา หรือปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือพื้นฟูศักยภาพในการหารายได้

สำหรับการแก้หนี้นอกระบบ นายกฯ กล่าวว่า ได้มอบภารกิจให้กระทรวงมหาดไทย มีบทบาทในกระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีบทบาทในการดำเนินคดีอาญา หากเจ้าหนี้มีพฤติการณ์ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นแหล่งเงินทุนช่วยเหลือลูกหนี้ที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว

ส่วนผลของการแก้หนี้นอกระบบ ตั้งแต่เปิดรับลงทะเบียน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 มียอดผู้ลงทะเบียนที่เป็นลูกหนี้มากกว่า 140,000 ราย ยอดมูลหนี้รวมทั้งสิ้นประมาณ 9,800 ล้านบาท ยอดของรายการที่มีข้อมูลครบและสามารถเข้ากระบวนการไกล่ได้ 21,000 ราย และไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 12,000 ราย คิดเป็น 57% ของจำนวนที่เข้าสู่กระบวนการ

และผลจากการไกล่เกลี่ยทำให้มูลหนี้ลดลงกว่า 670 ล้านบาท จากยอดผู้ลงทะเบียนที่เป็นลูกหนี้มากกว่า 140,000 ราย และสามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้วประมาณ 12,000 พันราย ถือว่าหนทางข้างหน้ายังท้าทายมาก สำหรับทุกหน่วยงาน

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า การติดต่อเจ้าหนี้ให้ยินยอมเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ย และทำให้ได้ข้อตกลงที่พึงพอใจของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ทั้งข้อตกลงในการชำระหนี้ ดอกเบี้ยที่เหมาะสม และถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่มีความท้าทายมาก หนึ่งในปัญหาหลักคือการที่เจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลการลงทะเบียนที่ไม่ครบถ้วนของลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้ไม่เข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ย

ขอให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบ ติดตาม และช่วยเหลือ และขอให้ประชาชนเข้ามาให้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ของตัวเองด้วย เพื่อสามารถนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และกระบวนการไกล่เกลี่ยให้เร็วที่สุด ขอให้กำลังใจกระทรวงมหาดไทย ที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และดำเนินการอย่างทั่วถึง ครอบคลุมประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ อาจจะเจออุปสรรคบ้าง เช่น ติดต่อเจ้าหนี้ไม่ได้ เจ้าหนี้ไม่ให้ความร่วมมือ หรือไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ กระทรวงมหาดไทยในฐานะที่เป็นเหมือนบันไดขั้นแรกของการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบครั้งนี้ ยังคงต้องเร่งปฏิบัติงานแบบเชิงรุก เร่งหาตัวเจ้าหนี้ และดำเนินการไกล่เกลี่ยให้บรรลุผลให้มากที่สุด

นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อขอเข้าร่วมการแก้หนี้ได้สะดวกมากขึ้น ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” ซึ่งได้รับทราบมาว่าได้มีการดำเนินการในทุกจังหวัดเรียบร้อยแล้ว อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง

สำหรับบันไดขั้นที่สอง ของการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติระดมกวาดล้างผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ และรับจำนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์โดยผิดกฎหมาย

ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2566 และะครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 15 – 24 มกราคม 2567 โดยสามารถจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดมากกว่า 1,300 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 40 ล้านบาท การดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง และดำเนินการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ การกวาดล้างเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย จะช่วยปลดปล่อยลูกหนี้ให้หลุดพ้นจากวงจรอันโหดร้ายนี้

สำหรับบันไดขั้นที่สาม ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ความช่วยเหลือด้านการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ลูกหนี้ผ่านการไกล่เกลี่ยมาแล้ว เพื่อให้สามารถพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่ม และไม่ต้องกลับมาเป็นหนี้นอกระบบซ้ำอีกในอนาคต

ซึ่งปัจจุบันธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ได้มีมาตรการสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้นอกระบบหลายมาตรการด้วยกัน แต่ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสินเชื่ออยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นจากกระบวนการการเตรียมเอกสารรายรับ รายจ่ายย้อนหลัง ที่ลูกหนี้ต้องยื่นและเป็นอุปสรรคต่อการได้รับสินเชื่อ ซึ่งได้กำชับธนาคารทั้ง 2 ธนาคารแล้ว ให้ดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ อยากให้ธนาคารของรัฐ นำเงินกลับไปช่วยเหลือประชาชนที่ยากลำบากมากกว่ากอดผลกำไรไว้ ในขณะที่อีกหลายครอบครัวกำลังทนทุกข์กับหนี้นอกระบบ ที่ดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายกำหนด ปัญหาอีกส่วนหนึ่งคือ การที่เจ้าหน้าที่ไม่เข้ามาในกระบวนการเพื่อยืนยันว่ามีหนี้จริง ก่อนให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ร่วมกันทำสัญญาให้ดอกเบี้ยเป็นไปตามกฎหมาย

และบันไดขั้นสุดท้าย ที่จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบไม่ให้กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก คือ การสร้างรายได้เพิ่ม ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องร่วมกันเสริมทัพ เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน หาอาชีพ และสร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชน

ในส่วนของหนี้ในระบบนั้น นายกฯ แบ่งกลุ่มลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม บางกลุ่มได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว แต่บางกลุ่มยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จ กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ลูกหนี้รหัส 21 ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้รับการช่วยเหลือ

โดยปิดบัญชีหนี้เสียแล้ว มากกว่า 630,000 บัญชี มูลหนี้กว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้กลับมามีสถานะปกติในระบบเครดิตบูโร และสามารถกลับเข้าสู่ระบบการเงินได้ อีกทั้งยังมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ SMEs แล้ว มากกว่า 10,000 ราย มูลหนี้กว่า 5,000 ล้านบาท

กลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สูงจนเกินไป ไม่ควรเกินร้อยละ 4.75 ซึ่งมีสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 80 แห่ง ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาแล้ว คาดว่าการลดดอกเบี้ยดังกล่าว จะสามารถช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ได้กว่า 3,000,000 ราย นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิตได้เข้าร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้แล้ว มากกว่า 150,000 บัญชี

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง โดยเกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้แล้วมากกว่า 1,800,000 ราย มูลหนี้รวมกว่า 250,000 ล้านบาท ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษากองทุน (กยศ.) ได้เข้ามาติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วมากกว่า 600,000 ราย ซึ่ง กยศ. สามารถลดหรือปลดหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ได้

กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่มีหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นระยะเวลานาน โดยปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหลักเกณฑ์การร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารสินทรัพย์แล้ว และจะขยายหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเจรจาผู้ร่วมทุน เพื่อเตรียมจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อการจัดตั้งแล้วเสร็จลูกหนี้กลุ่มนี้จะสามารถโอนขายไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้การช่วยเหลือแบบผ่อนปรนต่อไป

“จากผลที่ทุกหน่วยงานได้ดำเนินการในระยะเวลาประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการทำงานของทุกหน่วยงาน และความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ ลูกหนี้จะต้องให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลถึงสาเหตุปัญหาที่แท้จริงและมูลหนี้ที่แท้จริง

รวมทั้งเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อให้ปัญหาถูกแก้ไขได้อย่างตรงจุด ตรงประเด็น และทันท่วงที หากลูกหนี้ท่านใดประสบปัญหาหนี้นอกระบบสามารถลงทะเบียนขอแก้หนี้นอกระบบได้ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

หรือหากลูกหนี้ประสบปัญหาหนี้ในระบบ ขอให้อย่ารอจนกลายเป็นหนี้เสีย ขอให้รีบเข้าไปหาสถาบันการเงิน เพื่อขอคำปรึกษา ขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งสถาบันการเงินเจ้าหนี้มีมาตรการที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาของแต่ละคนที่แตกต่างกัน”

นายกฯ ย้ำ

ในตอนท้าย นายกฯ กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบในครั้งนี้ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป พร้อมกล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ของรัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง และเราจะแก้หนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้ให้ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง