คัดลอก URL แล้ว
‘สภาผู้บริโภค’ จี้ ‘กรมกิจการผู้สูงอายุ’ แจ้งเตือนผู้สูงวัย หลังข้อมูลเกือบ 20 ล้านคนโดนแฮ็ก

‘สภาผู้บริโภค’ จี้ ‘กรมกิจการผู้สูงอายุ’ แจ้งเตือนผู้สูงวัย หลังข้อมูลเกือบ 20 ล้านคนโดนแฮ็ก

สภาผู้บริโภค เรียกร้องกรมกิจการผู้สูงอายุ แจ้งเตือนเจ้าของข้อมูลเกือบ 20 ล้านชุด ที่รั่วไหลให้ทราบถึงความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น แนะรัฐให้ความรู้และออกแบบระบบเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันความเสียหาย

จากกรณีเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 บริษัท Resecurity ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานโดยระบุว่าเดือน มกราคม 2567 พบข้อมูลที่ใช้ระบุตัวคนไทย ประกอบด้วย ชื่อ – นามสกุล เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ลายมือชื่อ รวมถึงรูปถ่ายหน้าตรง เกือบ 20 ล้านชุดข้อมูล รั่วไหลและถูกประกาศขายบนเว็บไซต์ซื้อขายข้อมูลผิดกฎหมาย หรือดาร์กเว็บ (Dark Web) โดยแหล่งข้อมูลที่รั่วไหลมากที่สุด ได้แก่ กรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งมีข้อมูลรั่วไหลมากถึง 19.7 ล้านแถวข้อมูล ทำให้อาจกระทบต่อสิทธิ ความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ รวมถึงความปลอดภัยทางการเงินของผู้สู้งอายุ นั้น

วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2567) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยี สภาผู้บริโภค แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า กรมกิจการผู้สูงอายุ ในฐานะหน่วยงานของรัฐควรออกมายอมรับและแสดงความจริงใจอย่างโปร่งใสว่า ข้อมูลขององค์กรรั่วไหลจริง อีกทั้งควรรีบแจ้งเตือนไปยังเจ้าของข้อมูลเพื่อให้ทราบและเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่งสังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว สวนทางกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องเพิ่มความระมัดระวังในการกดลิงก์หรือการรับสายเบอร์แปลกมากยิ่งขึ้น

ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ กล่าวอีกว่า รู้สึกกังวลใจกับเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลในครั้งนี้ เพราะแม้จะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ กฎหมายพีดีพีเอ (PDPA) แต่ยังพบปัญหาในทางปฏิบัติที่ล่าช้าและขาดการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง

“ผู้สูงวัยส่วนใหญ่คือผู้อพยพทางเทคโนโลยี เพราะเป็นกลุ่มที่เกิดและเติบโตในยุคแอนะล็อก (Analog) แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านมายุคดิจิทัล (Digital) ทำให้อาจยังไม่มีภูมิคุ้มกันหรือความเท่าทันเทคโนโลยีเท่ากับวัยรุ่นที่เป็นคุ้นเคยกับดิจิทัลตั้งแต่เด็ก ดังนั้น จึงควรมีมาตรการหรือระบบที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตในยุดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย” นางสาวสุภิญญาระบุ

ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญาเสนอให้รัฐบาลออกแบบระบบที่เหมาะสมกับสังคมสูงวัย เช่น การจ่ายหรือโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ ควรออกแบบตัวเลือกการโอนเงินให้มีการหน่วงเวลาไป 15 หรือ 30 นาที กล่าวคือ เมื่อมีการโอนเงิน ระบบจะเว้นระยะเวลา 15 หรือ 30 นาทีก่อนที่เงินจะเข้าบัญชีปลายทาง เพื่อให้ผู้สูงอายุมีเวลาตรวจสอบและจะช่วยชะลอความเสียหายในการทำธุรกรรมสำหรับกรณีที่ผู้สูงวัยถูกหลอกโอนเงินให้มิจฉาชีพได้ นอกจากนี้ ควรเผยแพร่ความรู้ เตือนภัย และมีข้อแนะนำในการใช้เทคเทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ เช่น แนะนำว่าหากมีเบอร์ที่ไม่รู้จักโทรเข้า ไม่ควรรับสาย แต่ให้ใช้วิธีการโทรกลับเพราะหากเป็นแบอร์ของมิจฉาชีพจะไม่มีคนรับสาย เป็นต้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง