วานนี้ (2 ก.พ.67) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็น พร้อมฝากข้อเสนอถึงพรรคก้าวไกล หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ว่า การที่พรรคหาเสียงแก้ไข ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง โดยระบุว่า [ข้อเสนอถึงพรรคก้าวไกลภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง]
ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองเมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ค่ำวันเดียวกัน ผมได้วิจารณ์และแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ตั้งแต่หัวยันท้าย ไปแล้วนััน
วันนี้ ผมจะขอวิจารณ์พรรคก้าวไกล และเสนอแนะต่อสาธารณะ
ผมเคยผ่านสถานการณ์เช่นนี้มาสมัยพรรคอนาคตใหม่ ผ่านประสบการณ์ความขัดแย้งทางความคิดในพรรคในเรื่องแหลมคม จึงขอใช้ประสบการณ์เหล่านี้ แนะนำไปถึงพรรคก้าวไกล คณะแกนนำ ส.ส. พนักงาน สมาชิก รวมถึงกองเชียร์ผู้สนับสนุนพรรค ดังนี้
1.พรรคก้าวไกลต้องถือธงนำประชาชน
ในฐานะพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่สืบทอดมาจากพรรคอนาคตใหม่ ต้องตระหนักเรื่องการเป็นพรรคการเมืองที่นำความคิดมวลชน ความเป็นพรรคอะวองการ์ดด้วย มิใช่ ปล่อยให้มวลชนนำโดยลำพัง แล้วรอเก็บดอกผลความนิยมจากการเลือกตั้งเพื่อให้ตนเองเข้าไปมีอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว
ในช่วงเวลาที่ “นิติสงคราม” รุมกระหน่ำซัดพรรคก้าวไกลในช่วงเวลานี้ ผมอยากให้พรรคตั้งสติ ตั้งหลักให้ดี อย่าลนลานตระหนกตกใจ จนเดินสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง ไร้แนวคิดรากฐาน
แน่นอน มีความกลัว มีความกังวล ถึงภัยทางกฎหมายที่จะตามมาเป็นลูกระนาด ความกลัวเหล่านี้เกิดได้เป็นธรรมดา เรา ปุถุชนคนทั่วไป ก็รู้สึกเช่นนี้ได้
แต่เมื่อตั้งหลักได้แล้ว ขอให้กลับมายืนหยัดนำความคิดประชาชนให้ได้ อย่าปล่อยให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคที่รอคอยความช่วยเหลือจากมวลชนให้ปกป้องตนเอง ถึงเวลาก็เรียกใช้มวลชนให้ปกป้อง แต่กลับไม่คิดอ่านขยับขยายการต่อสู้เลย
อย่าปล่อยให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคที่ไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไร ก็จะมีกองเชียร์ผู้สนับสนุนคอยปกป้อง โดยไม่คิดชี้นำความคิดมวลชนของพรรค แล้วก็กอบโกยเอาความนิยมจากมวลชนไปอย่างเดียว
อย่าปล่อยให้พรรคก้าวไกล เปลี่ยนจาก “ยานพาหนะของการเปลี่ยนแปลง“ ไปเป็น “ยานพาหนะให้คนกลายเป็นอำมาตย์รายใหม่” กลายเป็นที่รวมตัวกันของคนทึ่อยากเป็น ส.ส. เป็น รมต.
2.หาช่องทางที่ยังพอเป็นไปได้ในการผลักดันการแก้ไข 112 ต่อไป
ตามสภาพองค์ประกอบของพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภา ณ เวลานี้ ไม่น่าจะมีพรรคการเมืองพรรคไหนกระตือรือร้นกับการแก้ไขปัญหาเรื่อง 112
หากพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันว่า มาตรา 112 เป็นปัญหาสำคัญในการเมืองไทย กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกัน จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง เพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตย ความยุติธรรม และปกปักรักษาสถาบันกษัตริย์ พรรคก้าวไกลก็ต้องรับภารกิจนี้เดินหน้าต่อไป
หากอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด จะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามการแก้ไข 112 อย่างสัมบูรณ์เด็ดขาด ต่อให้เราจำเป็นต้องยอมรับคำวินิจฉัย จำเป็นต้องทำตามคำวินิจฉัยนี้ มันก็ยังพอมีช่องทางให้ผลักดันแก้ไข 112 ได้อยู่ นั่นคือ การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในประเด็น ดังต่อไปนี้
- ลดอัตราโทษ
- ยกเลิกโทษจำคุกขั้นต่ำ
- แบ่งแยกความผิด ออกเป็น 3 ฐาน ได้แก่ หมิ่นประมาท ฐานหนึ่ง ดูหมิ่น ฐานหนึ่ง แสดงความอาฆาตมาดร้าย อีกฐานหนึ่ง และแบ่งแยกตามตำแหน่งที่คุ้มครอง
- กำหนดให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดตาม ป อาญา มาตรา 112 แต่เพียงผู้เดียว
เมื่อประตูการแก้ไข 112 ยังคงเปิดอยู่ ยังพอมีพื้นที่ให้ขยับขยายอยู่บ้าง พรรคก้าวไกลก็ไม่ควรละทิ้ง โดยอ้างแต่เรื่องความอยู่รอดปลอดภัยขึ้นบังหน้า
3.กล้าหาญยืนยันโต้กับศาลรัฐธรรมนูญ
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมแทบไม่เห็นคนของพรรคก้าวไกลออกมาตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญเลย เท่าที่เห็น ก็มีเพียงการแถลงสั้นๆของหัวหน้าพรรคเท่านั้น
จุดยืนของพวกเราตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ คือ การต่อสู้กับขบวนการตุลาการภิวัฒน์ แต่ ณ วันนี้ ผมเห็นการต่อสู้ในเรื่องนี้น้อยมาก
ผมยังดีใจ ที่หัวหน้าพรรคไม่ไปฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 31 ผมดีใจ ที่พรรคแถลงโต้ศาลรัฐธรรมนูญออกมาบ้าง แต่ผมเห็นว่าน้อยเกินไป
ตามระบบรัฐธรรมนูญ ที่มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหลากหลาย มีแต่ ส.ส. มีแต่นักการเมืองที่ถืออำนาจรัฐนี่แหละ ที่จะต่อสู้กับศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยง การปล่อยให้ประชาชนคนทั่วไปรับภาระในการสู้กับศาล นั่นคือ การผลักภาระให้พวกเขาเสี่ยงโดนคดี
ส.ส.ต่างหากที่มีอำนาจตรากฎหมาย อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในมือ พรรคการเมืองต่างหากที่มีโอกาสเสนอนโยบายผ่านการเลือกตั้ง เข้าไปมีอำนาจรัฐ
หาก ส.ส. และพรรคก้าวไกล ไม่คิดสู้กับศาลรัฐธรรมนูญบ้างเลย ตามหน้ากระดานตอนนี้ ก็คงไม่เหลือใครที่พอจะยันกับศาลรัฐธรรมนูญได้
ในท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็จะขยับกินแดน สถาปนาตนกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง
การโต้กับศาลรัฐธรรมนูญ ทำได้ตั้งแต่ วิจารณ์คำวินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา ใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร อภิปราย หรือ ตั้งคณะกรรมาธิการ ศึกษาแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาทั้งหมด
เสนอร่าง พ.ร.ป. แก้ไข พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เสนอร่าง รธน แก้ไขเพิ่มเติม ตีกรอบมาตรา 49 มิให้รวมถึงการเสนอร่างกฎหมาย การใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงสกัดขัดขวางกระบวนการนิติบัญญัติในทุกขั้นตอน เว้นแต่ การตรวจสอบร่าง พ.ร.บ. ร่าง พ.ร.ป.ภายหลังจากผ่านรัฐสภาและก่อนทูลเกล้าฯเท่านั้น
เสนอร่าง รธน แก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนที่มาและองค์ประกอบศาลรัฐธรรมนูญ เสนอร่าง รธน แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญได้ เสนอร่าง รธน แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และตั้งองค์กรอื่นทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน
เป็นต้น
4.กล้าหาญผลักดันเสนอร่างพระราชบัญญัติอื่น ๆ ที่แหลมคมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
พรรคก้าวไกลประกาศนโยบายไว้มากมาย หลายเรื่องต้องตราเป็นกฎหมาย หลายเรื่องเป็นเรื่องแหลมคม พรรคก้าวไกลต้องไม่กลัว ต้องต่อสู้ผลักดันเรื่องเหล่านี้ต่อไป อย่ากลัวโดนยุบพรรค ตัดสิทธิ เสียจนไม่กล้าคิดอ่านทำอะไรเลย เพียงเพื่อเอาตัวรอด
ซึ่งต่อให้ไม่ทำ ก็อาจไม่รอด หรือต่อให้รอด ในอนาคต กลับมาทำอะไรแหลมคมขึ้นอีก พวกเขาก็จัดการอยู่ดี การหมอบยอม ทำได้เพียงยืดลมหายใจและไปรอตายเอาดาบหน้าเท่านั้น
นอกจาก ร่าง พ.ร.บ.จำนวนมากที่พรรคก้าวไกลเสนอไว้ พรรคก้าวไกลอาจไปลองขบคิด พิจารณากันดูว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ ที่ช่วยแก้ไขปรับปรุงความเป็นประชาธิปไตย ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพิ่มเข้าไปอีก หรือไม่ เช่น
ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ , ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นต้น
5.ประชุม สส พนักงาน เครือข่ายทั่วประเทศ ปลุกขวัญกำลังใจ ตั้งหลัก หลอมรวมความคิด
ผมทราบจากเพื่อน ส.ส.หลายคน เล่าให้ฟังว่า ก่อนจะมีคำวินิจฉัย พรรคไม่ได้เรียกประชุม ส.ส.และทุกองคาพยพ เพื่อพูดคุยตระเตรียมทำความคิดในกรณีเกิดสถานการณ์เลวร้ายจากคำวินิจฉัยไว้เลย มีแต่เพียงการขบคิดกันโดยคนไม่กี่คน ไม่แจ้ง ไม่แลกเปลี่ยนความเห็นกัน
เอาล่ะ ไม่เป็นไร ที่แล้วก็แล้วไป
แต่ ณ วันนี้ แกนนำพรรคควรเรียกทุกหน่วย ทุกศูนย์ ของพรรค ประชุม เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ หลอมรวมความคิด แสดงความเห็นแลกเปลี่ยน ปลุกเร้าการต่อสู้
การปล่อยไปตามยถากรรม ให้ ส.ส.และพนักงาน อยู่เฉย ๆ หุบปากเงียบ ๆ แล้วรอการตัดสินใจของคนไม่กี่คน ไม่ใช่แนวทางที่จะหลอมรวมพลังได้
6.สร้างประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในพรรค เพื่อมิให้พรรคแตก
สมัยพรรคอนาคตใหม่ การลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดภายในพรรค ตอนนั้น ผมใช้เวลาในการหลอมรวมความคิดให้เป็นเอกภาพ โดยการประชุมถึง 4 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง จนสุดท้ายมี ส.ส. 70 จาก 80 คน ลงมติไม่อนุมัติ ตามมติพรรค
ถึงกระนััน ก็เกิดความขัดแย้งทางความคิดตามมา หลายคน ไม่ต้องการไปต่อกับพรรค หลายคน เริ่มกังวลว่าอยู่ที่นี่จะต้องเสี่ยงภัยมากขึ้นๆ ก็แยกย้ายกันออกไปตามวิถีทาง
มารอบนี้ ผมคาดการณ์ว่า ประเด็นการเสนอร่างแก้ไข 112 (แก้แบบ Lite Version ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญท้วงมา) ประเด็นการสู้ในประเด็นแหลมคมต่อไป จะกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งทางความคิดรอบใหม่
อาจมีฝ่ายที่เห็นว่า ควรหยุด เพราะ กลัวซวย กลัวเดือดร้อน กลัวโดนตัดสิทธิทางการเมือง
อาจมีฝ่ายที่เห็นว่า ควรหยุด เพราะ กังวลอนาคต
อาจมีฝ่ายที่เห็นว่า ควรหยุด ถอยมาตั้งหลัก ไปทำประเด็นอื่น เพื่อรอไปเป็นรัฐบาลดีกว่า
อาจมีฝ่ายที่เห็นว่า ควรหยุด ยอมรับความจริงว่าตอนนี้ ทำได้เท่านี้ พอก่อน รักษาชีวิตเพื่อการเลือกตั้ง 70 ดีกว่า
อาจมีฝ่ายที่เห็นว่า ควรเดินหน้าต่อ หาช่องทางพื้นที่ที่พอขยับขับเคลื่อนได้บ้าง ไต่เส้น ยันเพดานไว้
ทั้งหมดนี้ ผมเชื่อว่า ไล่ไปตั้งแต่ แกนนำพรรค ส.ส. พนักงาน เครือข่ายทั่งประเทศ สมาชิก โหวตเตอร์ กองเชียร์ ต่างก็เห็นต่างกันไป การประเมินทางการเมือง ว่าจะเดินอย่างไร ไม่มีแบบไหนที่ถูกหมด ผิดหมด ทั้งหมด คือ ประเมิน อาจได้ อาจเสีย อนาคตจะเป็นคนบอกเรา
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า เราควรปล่อยให้ใครไม่กี่คนประเมินตัดสินใจกันไป และคนที่เหลือต้องมารับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้น การประเมินในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก กระทบองค์กร เช่นนี้ ควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด มิใช่ มีคนไม่กี่คนเคาะมาจากข้างบน และเมื่อผิดพลาด ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ
สถานการณ์ดำเนินมาถึงขนาดนี้ ควรคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นกันเต็มที่ และแสวงหามติร่วมกัน มีแต่วิธีแบบนี้ที่จะไม่ทำให้พรรคแตก
เปิดโอกาสให้คนในพรรคได้รวมกลุ่ม สร้างแนวทางของกลุ่ม แข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆว่าแนวทางไหนที่สมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วย ก็ให้ขึ้นนำพรรค พาพรรคไปตามแนวทาง และเมื่อหมดรอบหรือไม่สำเร็จ ก็พ้นไป ให้กลุ่มอื่นที่ได้รับความวางใจจากสมาชิก ขึ้นมาต่อ
หากทำเช่นนี้ได้ นอกจากจะไม่ทำให้พรรคแตกแยกแล้ว ยังทำให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นสถาบัน สอดคล้องกับพรรคการเมืองที่ควรเป็น มีการแข่งขันกันภายในพรรคว่าแนวทางแบบใดที่ครองอำนาจได้ในช่วงเวลาหนึ่ง และมีโอกาสเปลี่ยนแนวทางการนำได้เสมอ ธรรมชาติของการเกิดขึ้นของพรรคแบบพรรคก้าวไกล ความเห็นแตกต่าง ไม่ได้ทำให้แตกแยก
แต่ความเห็นที่มาจากการรวมเผด็จอำนาจของคนไม่กี่คนที่สั่งลงไป โดยไม่ให้คนอื่นๆได้โต้แย้งต่างหาก ที่จะกลายเป็นน้ำเดือดในการอวันระเบิด
ใช้วิกฤตครั้งนี้ เป็นโอกาสเถอะครับ
…
ผมได้ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น สื่อสารผ่านสาธารณะ ด้วยหวังว่าจะไปถึงหูถึงตาพรรคก้าวไกล คณะนำ ส.ส. พนักงาน เครือข่ายพรรค สมาชิก และโหวตเตอร์ จะเชื่อผมหรือไม่ จะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง ก็สุดแท้แต่ ผมไม่มีอำนาจใดไปบังคับสั่งการได้ ผมทำไป เพราะ ยังมีความหวังกับพรรคก้าวไกล
ผมไม่อยากเห็นพรรคก้าวไกล คณะนำพรรค ส.ส.เพลิดเพลินกับกระแสคะแนนนิยมจนคิดไปว่า “โหวตเตอร์ทั้งหมดเป็นของตาย”
อย่างไรเสีย การเมืองไทย ก็ไม่หลงเหลือทางเลือก ไม่ว่าเราทำอย่างไร ตัดสินใจอย่างไร สุดท้ายประชาชนก็ไม่เหลือทางเลือกที่ดีกว่านี้ ต้องเลือกเราอยู่ดี เพราะ ผมเห็นพรรคการเมืองที่ผ่านมาคิดกันแบบนี้ ผมถึงตัดสินใจทิ้งชีวิตมหาวิทยาลัย มาตั้งพรรคอนาคตใหม่
ผมไม่อยากเห็นพรรคก้าวไกล คณะนำ และคนในพรรค เพลิดเพลินกับกระแสสูง จนจมไม่ลง ละเลิกคิดเปลี่ยนแปลง คิดแต่ว่าจะได้เป็น ส.ส.เป็น รมต.เมื่อไร
หากวันใดพรรคก้าวไกลและคณะนำพรรคคิดกันแบบนี้ ผมคงรู้สึกผิดบาป ต้องแสวงหาสิ่งเคารพส่วนตนสารภาพบาปว่าไม่น่าตั้งพรรคขึ้นมาเลย
ทุกวันนี้ ผมยังเชื่อมั่นพรรคและคนในพรรค
ไว้วันไหน ผมหมดศรัทธากับพรรค และคนในพรรค ผมคงดีลีทได้ และไม่สนใจมันอีกเลย