คัดลอก URL แล้ว
“ชัชชาติ”ผู้ว่าฯกทม.เผยยังไม่ยืนยันเป็นเด็กพิเศษ ก่อเหตุแทงเพื่อน

“ชัชชาติ”ผู้ว่าฯกทม.เผยยังไม่ยืนยันเป็นเด็กพิเศษ ก่อเหตุแทงเพื่อน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. นายธนกร ไชยศรี ผอ.สำนักการศึกษา นายบัญชา สืบกระพัน ผอ.เขตสวนหลวง ลงพื้นที่โรงเรียนย่านพัฒนาการ หลังเกิดเหตุนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 แทงเพื่อนจนเสียชีวิต

โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ตามปกติโรงเรียนสุ่มตรวจอาวุธ บางครั้งก็เจอ บางครั้งก็ไม่เจออย่างเช่นวันนี้เข้าใจว่าไม่เจอ คาดว่าแอบนำเข้ามา อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องดูแลคือผู้ได้รับผลกระทบ เด็กนักเรียนส่วนหนึ่งมีผู้ปกครองรับกลับบ้านแล้ว ส่วนใครที่ยังไม่กลับให้คุณครูดูแลจิตใจให้ดี เนื่องจากอาจจะยังตกใจอยู่ และจะส่งนักจิตวิทยาเข้ามาดูแลพูดคุยกับเด็ก

“จากหลักฐานที่เรามีไม่ได้เป็นเด็กพิเศษและไม่ได้เข้าคอร์สเรียนเด็กพิเศษ ไม่มีเอกสารยืนยันแต่ที่พูดกันว่าเขาเป็นเด็กพิเศษอาจจะมาจากการสังเกต ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เนื่องจากเรามีเด็กพิเศษอยู่ในโรงเรียนกทม. หลายคน อาจจะกลายเป็นว่า ทุกคนกลัวไปกันหมด ขออย่าเอามาเป็นประเด็น อยากให้รอการสืบสวนให้ชัดเจนว่าปัญหามาจากอะไร รวมถึงเรื่องการบูลลี่ด้วย”

นายชัชชาติ  กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการป้องกันเหตุ จะต้องตรวจสอบอาวุธอย้างเข้มข้นก่อนเข้าโรงเรียน และในโรงเรียนด้วย เช่น มีดทำอาหาร ต้องเก็บอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบ อย่างไรก็ตามการตรวจอาวุธมีอยู่แล้ว แต่ไม่ 100% ทุกวัน ทั้งนี้ผู้ปกครองมีข้อเสนอว่าจะมาช่วยดูการตรวจอาวุธด้วย พร้อมสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนที่ผิดปกติ ทำอย่างไรให้นักเรียนกล้าบอกคุณครูเกี่ยวกับเรื่องผิดปกติ ทั้งยังเสริมสร้างหลักสูตร เน้นเรื่องจิตใจ ดูแลความรู้สึก บอกปัญหาต่าง ๆ ให้ครูฟัง ต้องลดภาระครู คืนครูให้นักเรียน

นายชัชชาติ ยังกล่าวว่า โรงเรียนนี้มีปัญหาเยาวชนจากด้านนอกมีพฤติกรรมเกเร ผู้ปกครองให้ความเห็นว่าไม่อยากให้แต่งชุดไปรเวท เพราะไม่สามารถแยกออกจากเด็กเกเร ซึ่งวันไหนที่โรงเรียนให้เด็กแต่งไปรเวทก็จะมีเด็กเกเรมาคุกคาม เป็นเรื่องบริบทโดยรอบและความปลอดภัยของเด็ก เบื้องต้นได้แจ้งผู้อำนวยการไปประเมินสถานการณ์ประเด็นนี้แล้ว ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างครู ผู้ปกครอง สำนักงานเขต และตำรวจ ร่วมมือเป้นหนึ่งเดียว การแก้ปัญหาก็จะดีขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างแก้

” กทม.ต้องรับผิดชอบเรื่องกายภาพ เช่น ไฟแสงสว่าง ทางเดิน กล้อง CCTV ต้องพร้อม สำนักงานเขตต้องมาตรวจสอบพื้นที่ที่มีการมั่วสุม ซึ่งเป็นนอกโรงเรียนที่มาไถเงินเด็กในโรงเรียนนี้ เป็นคนละเคสกับที่เกิดขึ้น สำหรับการถอดบทเรียน สิ่งแรกคือการตรวจสอบที่มาของอาวุธ นำเข้ามาโรงเรียนได้อย่างไร อีกส่วนคือการแยกพฤติกรรมที่ต้องได้รับการบำบัด เราต้องสร้างความไว้วางใจให้เด็กกล้าเข้ามาเล่าให้ฟัง หาช่องทางที่สื่อสารกับเราได้อย่างรวดเร็ว” นายชัชชาติ กล่าว

ขณะที่การสร้างความน่าเชื่อมั่น เป็นความรับผิดชอบของผู้ว่าฯ กทม.โดยตรงที่ต้องออกนโยบาย มาตรการ และข้อปฏิบัติให้เข้มแข็ง เรามีนักเรียนที่ต้องดูแล 250,000 คน 437 โรงเรียนสังกัด กทม.ทั้งนี้มาตรการเร่งด่วนต้องประสานงานเทศกิจ และตำรวจเข้ามาช่วยดูแลตรวจอาวุธ คุยกับเด็ก การเข้าไปดูในชุมชนที่มีปัญหา รวมถึงการขายน้ำกระท่อมรอบโรงเรียน แม้จะเป็นเรื่องปลายเหตุแต่ก็ทำให้เกิดเหตุได้

ส่วนนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นบุคลากรที่ กทม.ขาดอยู่นั้น เบื้องต้นอาจจะยังไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมาดูแลโดยตรง แต่ครูควรจะฝึกสังเกตพฤติกรรมเด็ก เพื่อลดภาวะเครียด และทำให้เด็กกล้าเข้ามาพูดคุยมากขึ้น

ด้านนายศานนท์ กล่าวถึงการให้ความสำคัญในวิชาโฮมรูมและแนะแนวว่า ในอดีตเราให้ความสำคัญในการทำแผนการเรียนการสอนเฉพาะ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่ขณะนี้ได้ให้ครูประจำชั้นทำแผนการเรียนการสอนวิชาโฮมรูมด้วย ไม่ใช่แค่คาบทวงการบ้าน แต่จะให้พูดคุยคล้ายกับการเปิดใจถึงสิ่งที่เด็กชอบ อยากเรียนรู้ หรือความสามารถพิเศษ เพื่อนำไปต่อยอดให้เด็กทุกคนมีความภูมิใจในตนเอง ไม่ใช่การเปรียบเทียบ ตอนนี้นำร่องแล้ว 1 โรงเรียน และจากเหตุการณ์นี้จะขยายมายังโรงเรียนที่เกิดเหตุด้วย

“ขอฝากไปยังสื่อและทุกคนไม่อยากให้พูดถึงพฤติกรรมการก่อเหตุของเด็กแบบซ้ำๆเพราะอาจจะไปสร้างความกดดันให้กับเด็ก รวมถึงไปเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้เด็กรายอื่นโดยไม่รู้และมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบได้ จึงอยากให้ช่วยกันดูแลสภาพจิตใจเด็กในมุมนี้ด้วย”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า โรงเรียนจะปิดการเรียนการสอนในวันพรุ่งนี้ก่อน 1 วัน ส่วนวันนี้หากเด็กคนไหนที่ยังไม่มีผู้ปกครองมารับก็ให้อยู่ภายในโรงเรียนจนกว่าจะถึงเวลาเลิกเรียนแต่ไม่มีการเรียนการสอนแต่อย่างใด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง