ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ให้ส่งสำเนาคำอุทธรณ์ของผู้ร้องให้คู่กรณีในอุทธรณ์จัดทำคำแก้อุทธรณ์ รวมทั้งกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการต่อมาทั้งหมด ตามข้อ ๗ วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ และมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง
คดีสืบเนื่องมาจากศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ๖๒๐/๒๕๕๙ หมายเลขแดงที่ ๑๙๔๘/๒๕๖๓ ระหว่าง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ร้อง และบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๔๖/๒๕๕๐ ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ๑/๒๕๕๙ (ที่วินิจฉัยโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า
๑. การบอกเลิกสัญญาของผู้ร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
๒.ให้ผู้ร้องชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้คัดค้าน จำนวน ๒,๘๙๐.๓๕ ล้านบาท
๓. ผู้คัดค้านต้องชำระค่าตอบแทนส่วนต่างตามสัญญาเข้าร่วมงานฯให้แก่ผู้ร้องเป็นเงินจำนวน ๒,๘๙๐.๓๕ล้านบาท
๔.ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่กันและกันในจำนวนเงินเท่ากัน คือ ๒,๘๙๐.๓๕ ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว ต่างฝ่ายจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกัน)
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำอุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นเพียงการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ และโต้แย้งเหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อกฎหมายและข้อสัญญาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่กรณีที่เกี่ยวกับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ประกอบกับคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านอันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๓๘ โดยได้มีการดำเนินการเพื่อระงับข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านโดยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการ แม้ข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๔๐/๒๕๕๐ และผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๑/๒๕๕๐ ขอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า ผู้คัดค้านไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกค่าตอบแทนขั้นต่ำพร้อมดอกเบี้ย และค่าปรับ แม้คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตาม แต่ไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติห้ามไม่ให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทในเรื่องเดียวกัน ประกอบกับศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเพื่อให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการแล้ว ไม่ใช่กรณีคู่กรณีฝ่ายเดียวกันยื่นคำเสนอข้อพิพาทหรือข้อเรียกร้องในเรื่องเดียวกันและการเสนอข้อพิพาททั้งสองเรื่องดังกล่าวข้างต้นเป็นการเสนอข้อพิพาทต่อองค์กรชี้ขาดคนละองค์กร จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการเสนอข้อพิพาทซ้อน คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนกรณีที่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๔๖/๒๕๕๐ ซึ่งเป็นข้อพิพาทในเรื่องเดียวกันกับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๑/๒๕๕๐ และยังมิได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านได้ดำเนินการใดๆเพื่อให้คณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๑/๒๕๕๐ ต่อไป ข้อพิพาทตามคำเสนอข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้นจึงไม่อาจยุติหรือระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการ ต่อมา ผู้คัดค้านได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๔๖/๒๕๕๐ ว่า ผู้ร้องผิดสัญญาเข้าร่วมงานฯ โดยบอกเลิกสัญญา ขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายกรณีผิดสัญญาเข้าร่วมงานฯ ผู้คัดค้านจึงยื่นคำเสนอข้อพิพาท และมูลพิพาทอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ผู้คัดค้านได้กล่าวอ้างเกิดจากการที่ผู้ร้องบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ โดยไม่มีสิทธิหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการเสนอข้อพิพาทคนละเรื่องกับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๑/๒๕๕๐ คำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๔๖/๒๕๕๐ จึงไม่เป็นการเสนอข้อพิพาทซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๑/๒๕๕๐ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่เป็นคำชี้ขาดที่ขัดต่อข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ส่วนกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกันซึ่งเป็นอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ตามมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ข้ออ้างของผู้ร้องดังกล่าวไม่ใช่เหตุที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และมีคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ซึ่งไม่ใช่กรณีที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และไม่ปรากฏว่ามีตุลาการศาลปกครองชั้นต้นในองค์คณะซึ่งพิจารณาคดีนี้ได้มีความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา และไม่ใช่เป็นกรณีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราว ตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง (๔) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คำอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นคำอุทธรณ์ที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ศาลปกครองสูงสุดจึงต้องมีคำสั่งยกอุทธรณ์ตามข้อ ๑๐๘ วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ให้ส่งสำเนาคำอุทธรณ์ของผู้ร้องให้คู่กรณีในอุทธรณ์จัดทำคำแก้อุทธรณ์ รวมทั้งกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการต่อมาทั้งหมด ตามข้อ ๗ วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ และมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง
สำนักงานศาลปกครอง ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗