ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นยังเป็นปัญหาที่น่ากังวล หลังพบข้อมูลว่า มีเด็กถูกกลั่นแกล้ง ร้อยละ 40 และพบว่าในจำนวนนี้คิดฆ่าตัวตายเกือบร้อยละ 20 การอบรมครู เพื่อเพิ่มทักษะการสังเกตและการรับฟังปัญหาของเด็ก จึงเป็นหนึ่งในวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการเพื่อลดความสูญเสียอาจเกิดขึ้นในอนาคต
ครูจากกรุงเทพและปริมณฑล ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งฝึกทักษะการรับฟังปัญหาจากเด็กและคัดกรองความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต เพื่อนำมาปรับใช้แก้ปัญหากับนักเรียนในโรงเรียน ในโครงการ ครูแคร์ใจ
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ปัจจุบัน น่ากังวล เพราะข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตปี 2565 พบ 1 ใน 14 ของเด็กอายุ 5-9 ปี และ 1ใน 7 ของเด็กอายุ 10-19 ปีกำลังเผชิญโรคทางจิตเวช โดยมีเด็ก ร้อยละ 40 ถูกกลั่นแกล้ง พบว่ามากกว่าร้อยละ 60 เกิดเหตุที่ห้องเรียน ส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มแอลจีบีทีคิวพลัช สิ่งที่น่าห่วง คือ ร้อยละ 17.6 ในกลุ่มอายุ 13-17 ปี คิดฆ่าตัวตาย โดยการฆ่าตัวตายถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 3 ของวัยรุ่น
นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ที่ผ่านมา มีการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพจิตนักเรียนผ่านแอปพลิเคชันเพื่อเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียน หากพบความเสี่ยง ครูสามารถปรึกษาผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที โดยปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับการช่วยเหลือจนดีขึ้น ถึงร้อยละ 73 รวมทั้งยังจัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาไปแล้วเกือบ 7 พันคน จากหลายองค์กรการศึกษา