นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (12 มกราคม 2567) เวลา 16.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ กรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
นำตัวแทนกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีขอให้คงกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และข้อเรียกร้องให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า ให้พวกเขาได้เติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพและเป็นอนาคตของชาติในการพัฒนาประเทศไทย เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กอันมีค่า เพื่ออนาคตของเด็กไทย
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทยอย่างมาก ซึ่งธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าใช้กลยุทธ์การตลาดล่าเหยื่อที่มุ่งเป้าเด็ก โดยผลิตบุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบใหม่เป็นตัวการ์ตูนและกล่องนม ทำให้เข้าถึงเด็กอายุน้อยลงเรื่อย ๆ
ล่าสุดพบ ผู้สูบเป็นเด็ก ป.2 อายุน้อยเพียง 7 ขวบ ซึ่งพบว่าผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเกิดปอดอักเสบเฉียบพลัน (EVALI) และปอดแตก จำนวน 2-3 ราย ทำให้เครือข่ายผู้ปกครองและครูมีความกังวลเป็นอย่างมาก โดยผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ปกครองและครูต่อนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า ปี 2566 พบว่า 91.5% สนับสนุนให้รัฐบาลคงมาตรการห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และ 93% เห็นว่าควรเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งขายหน้าร้านและออนไลน์
นายฮาซีม เถาวัล ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพที่เด็กและเยาวชนสะท้อนออกมา คือ ปัญหาสารเสพติดในเด็กและเยาวชน เช่น กัญชา กระท่อม และบุหรี่ไฟฟ้า ที่แพร่ระบาดในเด็กและเยาวชนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ ซึ่งจากมติสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ปี 2566 สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จึงมีข้อเสนอ ดังนี้
- 1) ขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
- 2) ขอให้คงไว้ซึ่งกฎหมายห้ามนำเข้าและค้าขายบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเป็นมาตรการที่ดีในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า
- 3) ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการสร้างสื่อที่สร้างความเข้าใจและผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้า
- 4) ขอให้สถานศึกษาดูแลและเคร่งครัดในการสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
น.ส.ศุภานัน เจนธีรวงศ์ นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวถึงจุดยืนของกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และขอให้มีการทบทวนในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- 1) ผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนไทยโดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและเยาวชน ย่อมน่าเป็นกังวลมากยิ่งขึ้น หากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย แม้ปัจจุบันนี้ยังไม่ถูกกฎหมายก็พบว่ายังมีการลักลอบนำเข้า ซื้อขาย และใช้อย่างแพร่หลายในเด็กและเยาวชน
- 2) หากมีการยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ทางภาครัฐมีมาตรการในการควบคุมการนำเข้าและการซื้อขายอย่างไร รวมถึงการจัดการความเสี่ยงที่จะซ้ำเติมการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กเล็กและเยาวชน
- 3) การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ต้องมีรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากธุรกิจยาสูบ
นายพัฒน์ งามเดชากิจ ผู้แทนสโมสรนักศึกษารามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูนำสู่การเสพติดชนิดอื่น ๆ ของเยาวชน จากการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นนักสูบหน้าใหม่ จนเป็นวิกฤตถึงขั้นหายนะของอนาคตของชาติ สโมสรนักศึกษารามาธิบดี จึงขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ดังนี้
- 1) ขอให้คงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะจากการทบทวนมาตรการของประเทศต่าง ๆ พบว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการปกป้องเยาวชนนักสูบหน้าใหม่
- 2) ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ โดย กรมศุลกากรตรวจการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเคร่งครัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจจับผู้ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตรวจจับและปิดช่องทางลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าทางสื่อสังคมออนไลน์
- 3) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ปกครองและครู รวมทั้งสื่อมวลชนเฝ้าระวังกลยุทธ์การตลาดล่าเหยื่อ โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ และการแทรกแซงเชิงนโยบายทุกรูปแบบของอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้า
- 4) เร่งรณรงค์แล้วให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ทุกภาคส่วน โดยบรรจุเข้าเป็นหลักสูตรการเรียนสำหรับนักเรียนตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา รวมทั้งในสื่อออนไลน์ ทั้งนี้เพื่อปกป้องเยาวชนไทย เป็นของขวัญในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2567
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับมอบหนังสือฯ ข้อเรียกร้อง พร้อมกล่าวว่าจะส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาต่อไป