คัดลอก URL แล้ว
“อธิบดีกรมราชทัณฑ์” เผย เตรียมรายงานความเห็นแพทย์ ปม “ทักษิณ” นอน รพ.ตำรวจเกิน เร็วๆนี้

“อธิบดีกรมราชทัณฑ์” เผย เตรียมรายงานความเห็นแพทย์ ปม “ทักษิณ” นอน รพ.ตำรวจเกิน เร็วๆนี้

วันที่ 10 มกราคม เวลา 20.30 น. ที่ สโมสรราชพฤกษ์ กรุงเทพฯ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า สำหรับการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำเกินกว่า 120 วัน ของอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร นั้น ตนได้รับรายงานความเห็นจากแพทย์ผู้ตรวจรักษาเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมรายงานไปยัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และถ้าเกินกว่านี้ก็ไม่มีการต้องรายงานตามลำดับชั้นใดๆอีกแล้ว ส่วนจำนวนผู้ต้องขังที่เข้ารักษาภายนอกเรือนจำเกินกว่า 120 วัน ไม่ได้มีเพียง 3 รายที่ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ตร.) แต่ยังมีผู้ต้องขังบางส่วนที่นอนพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วันจริงๆ ซึ่งตนในฐานะอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ต้องให้ความเห็นชอบ ตั้งแต่การนอนพักรักษาตัวเกินกว่า 60 วัน หรือเกินกว่า 120 วัน ซึ่งมีผู้ต้องขังเป็นหมื่นรายที่ต้องพิจารณา

นายสหการณ์ เผยอีกว่า ส่วนความคืบหน้าของระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ที่จะต้องมารองรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ตอนนี้มีการวางกรอบไว้เบื้องต้นแล้วว่าผู้ต้องขังจากรายคดีใดบ้างที่จะเข้าเกณฑ์ และคงไม่ทันเดือน ก.พ.นี้ เพราะมันขึ้นอยู่กับเนื้อหาอีกหลายประการ ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะการออกระเบียบคุมขังนอกเรือนจำมีถึง 4 วัตถุประสงค์ ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มผู้ต้องขังป่วยก็อีกลักษณะหนึ่ง กลุ่มผู้ต้องขังที่ต้องได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยก็อีกอย่างหนึ่ง หรือกลุ่มผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยก็จะเป็นอีกแบบ

ดังนั้น ทุกกลุ่มมีแนวทาง หลักเกณฑ์ปฏิบัติแตกต่างกัน และยังจะต้องไปดูในส่วนของสถานที่คุมขังที่ไม่ใช่เรือนจำ อย่างเช่นหากเป็นบ้านพักจะต้องกำหนดเงื่อนไขใดบ้าง หรือถ้าหากเป็นพื้นที่ของมูลนิธิ เอกชน ก็จะต้องไปกำหนดเงื่อนไขหลักการปฎิบัติอย่างละเอียด นอกจากนี้ ในวันพรุ่งนี้ (11 ม.ค.) เวลา 13.00 น. จะมีการประชุมกันของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ที่ อาคารกรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี ส่วนกรอบระยะเวลาการประชุมจะนานแค่ไหนอยู่ที่เนื้อหาและกรรมการที่จะพิจารณา อย่างไรก็ตาม การประชุมในวันพรุ่งนี้เราไม่ได้คุยแค่เรื่องระเบียบคุมขังภายนอกเรือนจำเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน เพราะตามนโยบายของรัฐมนตรีคณะกรรมการราชทัณฑ์จะต้องดำเนินการประชุมทุกเดือน ซึ่งตามนัยแล้ว รมว.ยุติธรรม เป็นประธานของคณะกรรมการฯ

นายสหการณ์ เผยต่อว่า ในการประชุมวันพรุ่งนี้เกี่ยวกับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ จะยังไม่มีการกำหนดถึงผู้ต้องขังล็อตแรกที่จะเข้าเกณฑ์ แต่เป็นการประชุมปกติของคณะกรรมการราชทัณฑ์ที่ต้องหารือในทุกๆประเด็น เช่น สถานที่สำหรับคุมขังในระหว่างถูกดำเนินคดี เพื่อที่จะแยกกลุ่มนักโทษเด็ดขาดออกจากผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี และการติดตามงาน นโยบายในการประชุมครั้งที่ผ่านมา อาทิ การนำร่องในสถานที่คุมขัง เป็นต้น ถือเป็นวาระปกติที่รัฐมนตรีจะต้องให้มีการประชุมทุกเดือน

นายสหการณ์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ถือเป็นคุณสมบัติของผู้ต้องขังอยู่แล้ว และก็ต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 แต่ก็ต้องไปดูให้ถี่ถ้วน เพราะนักโทษมีเป็นแสนรายทั่วประเทศ ประโยชน์ที่ผู้ต้องขังจะได้รับมีหลายอย่าง เช่น ได้รับวันลดวันต้องโทษ หรือได้รับการพักโทษ หรือหากจำเป็นต้องได้รับการพระราชทานอภัยโทษก็เป็นอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้ รายชื่อผู้ต้องขังที่จะเข้าเกณฑ์ผ่านโครงการพักการลงโทษ ทางผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละแห่งจะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อและพิจารณาคุณสมบัติของผู้ต้องขังก่อนนำเสนอมายังตนในฐานะอธิบดีกรมราชทัณฑ์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง