ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กำหนด “แนวทางการจัดระบบบริการเพื่อดูแลคนไทยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในต่างประเทศผ่านระบบบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)” ดูแลคนไทยผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพที่อาศัยในต่างประเทศหรือต้องเดินทางไปต่างประเทศให้เข้าถึงการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สอดคล้องกับมาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดไว้ว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ซึ่งครอบคลุมถึงคนไทยผู้อาศัยอยู่ในต่างประเทศหรือต้องเดินทางไปต่างประเทศด้วย
Telemedicine บริการนี้คืออะไร
เทเลเมดิซีน (Telemedicine) เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการทางการแพทย์ ดำเนินงานภายใต้แนวคิดการให้บริการผู้ป่วยได้ทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด
พร้อมทั้งมุ่งขยายการให้บริการให้ครอบคลุมคนไทยในต่างประเทศเพื่อช่วยลดอุปสรรคให้แก่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพในต่างประเทศที่เผชิญกับปัญหาทางด้านภาษาและการสื่อสารเมื่อเกิดภาวะเจ็บป่วยและต้องเข้ารับบริการสาธารณสุขในประเทศนั้น ๆ
โดยบุคลากรทางการแพทย์ไทยจะให้บริการ Telemedicine ในกรณีที่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illness) เพื่อให้คำแนะนำและคำปรึกษาด้านสุขภาพ และคัดกรองอาการป่วยเบื้องต้น
ผ่านแอปฯ อะไรบ้าง – เริ่มเมื่อไหร่ ?
คนไทยในต่างประเทศสามารถเข้าใช้ Telemedicine ด้วยโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ผ่าน 4 แอปพลิเคชันที่ร่วมมือกับสปสช.ในการเป็นหน่วยบริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ได้แก่
- Saluber MD
- Clicknic
- Mordee
- Totale Telemed
โดยผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลได้ที่เว็บไซต์สปสช. ไลน์ OA สปสช. @nhso และแอปพลิเคชัน สปสช. และใช้หนังสือเดินทางหรือเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักในการยืนยันตัวตนการใช้สิทธิในการขอรับบริการ
วิธีใช้งาน
- 1.เมื่อมีอาการป่วย เจ็บ ไข้ ไอ ปวด ปรับษาแพทย์ผ่านระบบการแพทย์ทางไกลด้วยโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน
- 2.เตรียมหนังสือเดินทาง (Passport) หรือ เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อยืนยันตัวตนการใช้สิทธิ
- 3.เลือกรับบริการผ่าน 4 แอปพลิเคชันสุขภาพ
…
อย่างไรก็ตามบริการนี้จะเป็นการพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อขอรับคำปรึกษาในเรื่องสุขภาพ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างความอุ่นใจด้านสุขภาพให้กับคนไทยที่อยู่ในต่างแดนได้
ส่วนเรื่องยานั้น การส่งยาไปจากประเทศไทยยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดขัดในด้านกฎหมาย ดังนั้นผู้ให้บริการเทเลเมดิซีนอาจออกใบสรุปอาการและยาที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ป่วยที่ต้องไปพบบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศนั้นๆ เพื่อรับการดูแลต่อไป