ในปีพ.ศ. 2566 นี้ สถานการณ์ในต่างประเทศดูจะเป็นอีกหนึ่งปีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลก ทั้งปัญหาความขัดแย้ง สงคราม รวมถึงภัยธรรมชาติ เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งปีที่สถานการณ์โลกดูจะคุกรุ่นมากยิ่งขึ้น
…
สงครามอิสราเอล-ฮามาส
หนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างแรงกระเพื่อม และความตึงเครียดไปทั่วโลกเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2566 นี้ ภายหลังจากที่กลุ่มฮามาสได้เปิดฉากโจมตีแบบฉับพลันไปยังดินแดนของอิสราเอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นชนวนเหตุให้อิสราเอลเปิดฉากโจมตีฉนวนกาซาอย่างหนัก
ซึ่งเหตุการณ์การโจมตีฉนวนกาซาที่เกิดขึ้น สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสถานการณ์โลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางการสู้รบ ความขัดแย้งบนเวทีโลกสืบเนื่องจากการโจมตียูเครนของรัสเซียเมื่อก.พ. 2565
อิสราเอล – ฮามาส จึงกลายเป็นความคุกรุ่นที่หลายชาติกลัวว่า การโจมตีไปยังฉนวนกาซา จะทำให้ชาติอาหรับออกมาเคลื่อนไหว และอาจกลายเป็นชนวนเหตุให้การสู้รบลุกลามออกไปได้
แต่ผ่านมาแล้วเกือบ 3 เดือน สถานการณ์ยังคงดุเดือด แต่ไม่ลุกลามหรือขยายวงกว้างออกไปมากนัก จึงทำให้หลายฝ่ายผ่อนคลายลงบ้าง แต่แรงกดดันต่ออิสราเอลยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการโจมตีอย่างหนักต่อฉนวนกาซา ที่หลายชาติมองว่า เกินขอบเขตของการตอบโต้เพื่อป้องกันตนเองมากเกินไป
…
พริโกซินนำวากเนอร์บุกรัสเซีย
การสู้รบกันระหว่าง ยูเครน-รัสเซีย ยังคงไม่เห็นจุดสิ้นสุดของสงครามนี้ แต่เหตุการณ์ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 หลังจากที่ เยฟเกนี พริโกซิน หัวหน้ากองกำลังวากเนอร์ ได้ประกาศยกกำลังพล 25,000 นาย บุกมอสโก
ซึ่งภายหลังจากการประกาศเพียงไม่นาน กองกำลังวากเนอร์ก็ได้เข้าสู่เมืองรอสตอฟ-ออน-ดอน และเข้าควบคุมพื้นที่ของเมืองไปได้
โดยเหตุผลของการบุกมอสโกในครั้งนี้ พริโกซินอ้างว่า กองทัพรัสเซียได้มีการโจมตีไปยังฐานที่มั่นของวากเนอร์จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และการบุกรัสเซียในครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการก่อรัฐประหารยึดอำนาจแต่อย่างใด เป็นเพียงการเคลื่อนขบวนเพื่อทวงความยุติธรรมให้กับทหารของวากเนอร์ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ด้านมอสโกก็ได้ประกาศตอบโต้สิ่งที่เกิดขึ้นว่า เป็นการกบฎ นับเป็นการแทงข้างหลังต่อรัสเซีย โดยขอให้ยุติการกระทำดังกล่าวเสีย
ท้ายที่สุดแล้ว กองกำลังวากเนอร์ก็ได้ประกาศยุติความเคลื่อนไหว และเคลื่อนขบวนกลับที่ตั้ง ภายหลังจากการประกาศบุกมอสโกเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมงท่ามกลางหลากหลายกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ทั้งที่อยู่ห่างจากมอสโกอีกประมาณ 500 กม.เท่านั้น
และหลังจากเงียบหายไปพักใหญ่ ข่าวการเสียชีวิตของพริโกซิน ก็สร้างแรงกระเพื่อมอีกครั้ง จากเหตุการณ์เครื่องบินตกระหว่างการเดินทางโดยเครื่องบินเจตส่วนตัวไปยังเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก
…
การเดินทางครั้งสุดท้าย “เรือดำน้ำไททัน”
อีกหนึ่งข่าวที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2566 กับเหตุการณ์ที่เรือดำน้ำไททันขาดการติดต่อระหว่างการเดินทางดำดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทรเพื่อชมซากเรือไทเทนิก ภายหลังจากเริ่มดำลงไปเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 45 นาที พร้อมผู้โดยสาร 5 รายประกอบไปด้วย
- นายสต็อกตัน รัช CEO บริษัทโอเชียนเกต
- นาย ฮามิช ฮาร์ดิง มหาเศรษฐีนักสำรวจชาวอังกฤษ
- นาย ปอล อองรี นาร์โฌเลต์ อดีตนักดำน้ำกองทัพเรือฝรั่งเศส ผู้ที่มีประสบการณ์สำรวจซากเรือไททานิก
- นายชาห์ซาดา ดาวูด นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายปากีสถาน และสุเลมาน ดาวูด วัย 19 ปี บุตรชาย
หน่วยงานต่าง ๆ ได้ระดมกำลังออกค้นหาเรือไททันอย่างต่อเนื่อง แม้มีความหวังเพียงน้อยนิดที่จะพบเรือไททัน พร้อมด้วยผู้โดยสาร ซึ่งภายหลังจากการค้นหาอยู่ 6 วัน หน่วยยามชายฝั่งก็พบชิ้นส่วนซากเรือไททัน จำนวน 5 ชิ้น ซึ่งเศษซากดังกล่าว ทำให้เชื่อว่า ผู้โดยสารทั้ง 5 ได้เสียชีวิตทั้งหมด จากแรงดันมหาศาลของน้ำ ร่วมกับความบกพร่องของเรือ นำไปสู่เหตุสลดในครั้งนี้
…
ChatGPT และบรรดา AI เปลี่ยนโลก
ปี 2566 ถือเป็นปีที่มีการพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กันอย่างกว้างขวาง โดยหลายฝ่ายเชื่อว่า บรรดาเอไอที่ถูกสร้างขึ้นมานี้ จะเปลี่ยนโฉมหน้าการทำงานในหลายสาขาอาชีพและนำไปสู่การปลดคนจำนวนมาก ซึ่ง ChatGPT ถือเป็นหนึ่งใน AI ที่จุดกระแสดังกล่าวอย่างมาก
ส่งผลให้ยอดผู้ใช้งานของ ChatGPT เพิ่มขึ้นทะลุหลัก 100 ล้านภายในเวลาเพียง 2 เดือนหลังเปิดให้บริการ ซึ่งคาดว่า ในขณะนี้มีผู้ใช้งาน ChatGPT เกือบ 200 ล้านคนทั่วโลก และจุดกระแส AI ให้กลายเป็นแรงผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ต่างลงมามีส่วนร่วมในการพัฒนาเอไอ ทั้งพัฒนาเอไอของตนเอง หรือ พัฒนาระบบ-บริการเพื่อเชื่อมต่อกับเอไออื่น ๆ
แต่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่าน ก็มีปัญหาข้อถกเถียงอย่างมากมายถึงความชอบธรรม ข้อกฎหมาย และอื่น ๆ ของการใช้เอไอ เช่น ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่สุ่มเสี่ยงจากเรียนรู้ของเอไอที่ไม่ถูกต้อง, ความเหมาะสมด้านจริยธรรม, การควบคุมการใช้งาน AI
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ กำลังเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของคนทั่วไปหลายล้านคนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ
…
แผ่นดินไหวตุรกี
หนึ่งในภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปี 2566 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5 หมื่นคนนั่นคือ เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในตุรกีและซีเรีย ในช่วงต้นเดือนก.พ. 2566 โดยเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 และ 7.5 โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ คือ ดับเบิ้ลช็อก
นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดแผ่นดินไหวตามขนาด 6 แมกนีจูดตามมาอีก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 51,000 คน โดยเฉพาะในตุรกีที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 44,300 ราย ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ก่อให้เกิดผู้เสียชีวิตมากที่สุดในปีนี้
หลายชาติต่างระดมกำลัง สิ่งของและเงินช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมไปยังทั้งสองประเทศนี้
…
โลกเดือด และเอลนีโญรุนแรง
อีกหนึ่งภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปี 2566 และยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องนั่นคือ ภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้หลาย ๆ ประเทศได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว ซึ่งเกิดขึ้นในทุกทวีปทั่วโลก
ซึ่งเมื่อเดือนก.ค. 2566 ที่ผ่านมา UN ได้ออกประกาศว่า ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และก้าวเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” ไปแล้ว ทำให้เดือน ก.ค. 2566 อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส มากกว่า ค่าเฉลี่ยในเดือนเดียวกันในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
ผลกระทบจากโลกเดือด ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่ส่อเค้ามาตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 แต่ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ และนักวิทยาศาสตร์ยังคงประเมินว่า สถานการณ์จะยืดเยื้อออกไปถึงช่วงต้นปี 2567 อีกด้วย
ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบให้กับหลายประเทศต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เลวร้าย โดยเฉพาะบางพื้นที่ของออสเตรเลียและอินโดนีเซียที่จะต้องภัยแล้งรุนแรง ในขณะที่ด้านตะวันออกของแอฟริกาจะเสี่ยงกับฝนตกหนัก สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรที่จะทำให้ผลผลิตมีน้อยลง กลายเป็นผลกระทบในวงกว้างขึ้น เช่น ราคาอาหารที่จะแพงขึ้นเรื่อย ๆ และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ก็จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงและหนักหนาที่สุด