วันนี้ (27 ธ.ค.66) กรม ปภ. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 32 อำเภอ 164 ตำบล 890 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 68,941 ครัวเรือน เร่งประสานพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณเกาะสุมาตราและทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้ระหว่างวันที่ 22 – 27 ธันวาคม 2566 มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 32 อำเภอ 165 ตำบล 922 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 71,401 ครัวเรือน
โดยปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 27 ธ.ค. 66 เวลา 06.00 น.) ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ รวม 5 จังหวัด 32 อำเภอ 164 ตำบล 890 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 68,941 ครัวเรือน ได้แก่
- 1) สตูล เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนโดน รวม 4 ตำบล 16 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,801 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- 2) สงขลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.คลองหอยโข่ง อ.สะบ้าย้อย และอ.รัตภูมิ รวม 9 ตำบล 29 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 836 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- 3) ปัตตานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.กะพ้อ อ.ทุ่งยางแดง อ.หนองจิก อ.โคกโพธิ์ อ.ไม้แก่น อ.ยะรัง และอ.สายบุรี รวม 30 ตำบล 95 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 8,360 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- 4) นราธิวาส เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.จะแนะ อ.ระแงะ อ.สุไหงปาดี อ.ศรีสาคร อ.ยี่งอ อ.เจาะไอร้อง อ.รือเสาะ อ.เมืองฯ อ.บาเจาะ อ.ตากใบ และอ.สุไหงโก-ลก รวม 70 ตำบล 457 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 39,604 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- 5) ยะลา น้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ธารโต อ.ยะหา อ.บันนังสตา อ.เมืองฯ อ.กาบัง และอ.รามัน รวม 51 ตำบล 293 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 18,340 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน
โดยจัดตั้งจุดอพยพให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าพักชั่วคราวจำนวน 6 จุด แจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม และถุงยังชีพให้แก่ประชนในพื้นที่รวมกว่า 189,000 ชุด และระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำจำนวน 31 เครื่อง รถบรรทุกเครื่องสูบส่งระยะไกลจำนวน 5 คัน รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยจำนวน 5 คัน รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยจำนวน 14 คัน รถผลิตน้ำดื่มจำนวน 4 คัน รถขุดตักไฮดรอลิคจำนวน 1 คัน และเรือท้องแบนจำนวน 18 ลำ เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป