คัดลอก URL แล้ว
ปักหมุดปี’68 คนไทยกินโซเดียมไม่เกิน 2 พันมก./วัน

ปักหมุดปี’68 คนไทยกินโซเดียมไม่เกิน 2 พันมก./วัน


โซเดียม หรือ เกลือแร่ สารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย และรักษาระดับความดัน ซึ่งร่างกายต้องการโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือ 1 ช้อน/ชา เท่านั้น แต่คนไทยบริโภคเกลือเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 2 เท่าตัว หรือเฉลี่ย 3,636 มิลลิกรัม/วัน


โซเดียมภัยร้ายใกล้ตัว หากบริโภคเกินจำเป็น โดยโรคที่มีความสัมพันธ์กับการกินเค็มที่ดูจากสถิติของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือด และโรคไต


ในงานครบรอบ 10 ปี เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4-6 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในหัวข้อ “เค็มน้อย อร่อยได้” โดยพุ่งเป้าปรับพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ให้ได้ภายในปี 2568 พร้อมๆ ไปกับการกระตุ้นเตือนสังคมไทยเรื่องการลดบริโภคเค็ม เพิ่มช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพลดโซเดียม


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายลดบริโภคเค็มได้ขับเคลื่อนการทำงานโดยสื่อสารต่อสาธารณะตลอดมา ตั้งแต่ให้ความรู้พื้นฐานกินโซเดียมมากจะเป็นโรคไต โซเดียมอยู่ที่ไหนบ้าง


“วันนี้เป็นที่น่าดีใจ เราได้เห็นภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการด้านอาหารพยายามในการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารที่ลดโซเดียมลง แต่ยังคงรสชาติที่อร่อย แต่ผมเชื่อว่าภาคธุรกิจแม้ปรับสูตรลดโซเดียมลงแล้ว ยังสามารถปรับลดลงได้อีก”
ดร.นพ.ไพโรจน์ ระบุว่า การรณรงค์และสื่อสารต่อสาธารณะ ลดเค็ม ลดโรค ช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมในบ้านเราเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น จาก 4,351.69 มิลลิกรัม/วันในปี 2552 ลดลงอยู่ที่ 3,636 มิลลิกรัม/วัน ในปี 2562


ด้าน รศ.ดร.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เห็นว่า พฤติกรรมคนไทยที่ชอบปรุง ชอบเติม ทั้งเกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส ฯลฯ ซึ่งเกลือโซเดียมส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำซุป ดังนั้น ผู้บริโภคหากอยากลดเค็มให้เริ่มที่การไม่ปรุงเพิ่ม ค่อยๆ ลดทีละน้อย เพื่อให้ลิ้นเราชิน เชื่อว่า จะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโซเดียมของคนไทยอย่างยั่งยืน


เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นสอดคล้องถึงการปรับพฤติกรรมลดโซเดียมที่ให้เริ่มทำจากสิ่งที่ง่ายๆ สะดวกก่อน เช่น อาจติดน้ำซุป น้ำจิ้ม ให้ค่อยๆ ลด โดยเฉพาะหน่วยเล็กที่สุด คือ ครอบครัวสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยเริ่มจากเด็กเล็ก แนะนำอาหาร ปรุงอาหารลดโซเดียม ให้รับประทานตั้งแต่อายุยังน้อยๆ


“ลิ้นของคนเราโดยธรรมชาติจะใช้เวลารับรู้การเปลี่ยนแปลงของรสชาติอาหาร การฝึกปรับลิ้นลดโซเดียมใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน เมื่อลดโซเดียมลงแล้ว หากจะกลับไปกินโซเดียมปริมาณเดิมอีก ลิ้นคนเราจะรู้สึกถึงความเค็มที่มากเกินไป”


ผศ.ดร.วัชราภรณ์ ยืนยันชัดว่า การปรับพฤติกรรมลดเค็ม ไม่ได้บอกให้ห้ามกินเค็มเลย แต่ต้องการสื่อสารให้บริโภคเค็มลดลง “การทำงานของเครือข่ายฯ อยากให้เจาะไปที่กลุ่ม key person ผู้ปรุงอาหารประจำบ้าน ผู้ซื้อวัตถุดิบประจำบ้าน แม่บ้าน ให้ความรู้ความเข้าใจผลกระทบจากการกินโซเดียมเกินก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง อยากลดโซเดียมต้องทำอย่างไร เชื่อว่า เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินเค็มน้อยลงได้เร็วขึ้น”


สำหรับภาคอุตสาหกรรม บริษัทผู้ผลิตอาหารมีความพยายามในการปรับสูตร คิดค้นสูตรเพื่อให้โซเดียมลดลง โดยพันธมิตรที่มาร่วมออกร้านในงาน 10 ปี เครือข่ายลดบริโภคเค็ม อาทิ บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ออกผลิตภัณฑ์รสดี ผงปรุงรสที่ลดโซเดียมลงถึง 50%


ในมุมมองภาคธุรกิจ ดร.กิตติพร พันธุ์วิจิตรศิริ ที่ปรึกษา (โภชนาการ) กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่า การที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารปรับสูตรลดโซเดียมลง ไม่ได้หมายความว่า ต้นทุนการผลิตจะลดลงตามไปด้วย เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบชนิดอื่นมาทดแทน จากเกลือที่เป็นวัตถุดิบที่ถูกที่สุดกิโลกรัมละ 3-4 บาท การดึงของที่ถูกที่สุดออกและใส่วัตถุดิบอื่นทดแทนเพื่อให้รสชาติยังคงอร่อย กลมกล่อม และยังจำหน่ายได้อยู่นั้น แน่นอนว่า ราคาย่อมสูงกว่า นี่คือภาระของผู้ประกอบการ และร้านค้าผู้ปรุงอาหาร


วันนี้กระแสสังคม เลือกก่อนทาน อ่านฉลาดก่อนซื้อ ลดซด ลดปรุง ถูกจุดติดแล้ว บวกกับพลังภาคีเครือข่ายที่แสดงเจตจำนงในการร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เชื่อมั่นว่า หมุดหมายที่เครือข่ายลดบริโภคเค็มปักไว้ ประสบความสำเร็จดังหวังได้ไม่ยาก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง