ปี 2566 กำลังจะผ่านไป ปีใหม่ 2567 กำลังจะก้าวเข้ามา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปี 2566 ถือเป็นหนึ่งในปีที่มีเหตุการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะ “การเมืองไทย” อะไรก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งทีม Mono Photo จะมารวบรวมภาพข่าวที่สุดของเหตุการณ์ในปีนี้ เพื่อทบทวนกันอีกครั้ง
…
ภาพ – ธนโชติ ธนวิกรานต์
เลือกตั้ง 2566
การเลือกตั้งในปี 2566 ถือเป็นหนึ่งในการเลือกตั้งที่ประชาชนตื่นตัวต่อการเลือกตั้งอย่างมาก ตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีคนออกไปเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ไปจนถึงวันเลือกตั้งจริง
ทำให้การเลือกตั้งในปี 2566 นี้ มีผู้มาใช้สิทธิ์กว่า 39.5 ล้านคน คิดเป็น 75.71% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52 ล้านคน นับเป็นตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ์สูงที่สุดในรอบกว่า 20 ปีของประเทศไทย
ภาพ – ธนโชติ ธนวิกรานต์
นอกจากนี้ ยังคงเป็นคนดัง รวมถึงผู้มีชื่อเสียงหลายคนร่วมออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันตั้งแต่เช้า รวมถึงคนดังในวงการการเมืองด้วย ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายเศรษฐา ทวีสิน
ภาพ – ธนโชติ ธนวิกรานต์ ,วิชาญ โพธิ , กฤติกร จิตติอร่ามกูล
…
MOU 8 พรรคร่วม “รัฐบาลก้าวไกล”
ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น แม้จะไม่ชนะแบบแลนด์สไลด์ แต่พรรคก้าวไกล ก็สามารถกวาดที่นั่ง สส.ไปได้ถึง 151 ที่นั่ง โดยมีพรรคเพื่อไทยตามมาเป็นอันดับ 2 คือ 141 ที่นั่ง และก้าวไกลก็ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก โดยได้มีการร่วมลงนามใน MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล ประกอบไปด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่
ภาพ – ธนโชติ ธนวิกรานต์
…
ศาล รธน. สั่ง “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่
แม้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล จะเป็นไปได้ แต่การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์กลับไม่ง่ายเหมือนอย่างที่คิด ตั้งแต่การโหวตนายกฯ ที่ไม่ผ่าน เนื่องจากเสียงโหวตในรัฐสภาไม่เพียงพอ
ภาพ – วิชาญ โพธิ
ก่อนที่จะมีปัญหาตามมาในประเด็นของการถือหุ้นไอทีวี ของนายพิธา และนำไปสู่การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องคดีที่นายพิธา ถือหุ้นไอทีวีไว้ พร้อมกับมีคำสั่งให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่สส. ตั้งแต่ กรกฎาคม 2566
ภาพ – วิชาญ โพธิ
…
เพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาล ก้าวไกลไม่อยู่ในสมการ
ท่ามกลางปัญหาการโหวตเลือกนายกฯ ที่ส่อแววถึงทางตัน ทำให้พรรคก้าวไกลประกาศส่งไม้ต่อให้กับพรรคอันดับสองอย่าง เพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย
เมื่อเพื่อไทยได้เชิญพรรคต่าง ๆ มาร่วมหารือเพื่อหาทางออกให้กับการเมืองไทย และจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในสมการดังกล่าว!
ภาพ – วิชาญ โพธิ
…
นายกฯ ชื่อ เศรษฐา นำครม.ถ่ายภาพ
ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยบรรลุข้อตกลงร่วมกับอีก 10 พรรค รวมเสียงในสภาได้ 314 เสียง ก็นำไปสู่การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ โดยมีชื่อของนายเศรษฐา ทวีสิน ภายหลังจากการโหวตนายกฯ ไม่ผ่านมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้า และในครั้งที่ 3 นี้เอง ประเทศไทยก็ได้ชื่อของนายกฯ คนที่ 30 คือ นายเศรษฐา ทวีสิน
ภาพ – วิชาญ โพธิ
แม้ว่า จะผ่านพ้นการโหวตนายกฯ ไปเป็นทีเรียบร้อย แต่ก็ยังมีกระแสข่าวการต่อรองกันในพรรคร่วมรัฐบาล ถึง “โควตา” รมต. – รมว. ต่าง ๆ จนกระทั่งในที่สุด โฉมหน้าของคณะรัฐมนตรีชุดของนายเศรษฐา ทวีสินก็ลงตัว
ภาพ – วิชาญ โพธิ
…
ทักษิณกลับไทย
ภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สถานการณ์ที่สร้างความฮือฮาที่สุดของปีคือการที่ นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549
ซึ่งการเดินทางกลับมาในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังการประกาศเดินทางกลับประเทศไทยมาแล้วราว 20 ครั้ง ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ความสนใจของประชาชนเกาะติดกระแสข่าวการเดินทางกลับของนายทักษิณอย่างมาก หลายคนเชื่อว่า การเดินทางกลับในครั้งนี้ อาจจะเป็นเพียงหนึ่งในกระแสการเมืองเหมือนเช่นที่ผ่านมา
ภาพ – ธนโชติ ธนวิกรานต์
ทำให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของนายทักษิณ ต้องออกมายืนยันอยู่เป็นระยะ ๆ ว่า การเดินทางกลับในครังนี้ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จนกระทั่งในวันที่ 22 ส.ค. เวลา 07.20 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ยืนยันภาพการเดินทางกลับไทยของนายทักษิณอีกครั้ง
และในที่สุด เวลา 09.00 น. เครื่องบินส่วนตัวของนายทักษิณ ก็ลงจอดยังสนามบินดอนเมือง และในเวลาประมาณ 09.30 น. ภาพการปรากฎตัวของนายทักษิณบนผืนแผ่นดินไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีก็เกิดขึ้น
ภาพ – ธนโชติ ธนวิกรานต์
…
สะพานถล่ม
นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 18.00 ของวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 เมื่อคานสะพานข้าม ถนนอ่อนนุช-หัวตะเข้ เขตลาดกระบังถล่มลงมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 10 ราย
ซึ่งยังคงถือเป็นโชคดีที่ในช่วงเวลาเกิดเหตุ การจราจรยังคงไม่หนาแน่น ทำให้มีรถยนต์เสียหาย 4 คัน และมีอาคาร บ้านเรือนบริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหายบางส่วน
ภาพ – ธนโชติ ธนวิกรานต์
ผลการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า น่าจะเป็นข้อผิดพลาดในระหว่างการก่อสร้าง จากการดึงลวดอัดแรง แต่คอนกรีตที่มีการเทเชื่อมต่อรับแรงอัดที่เกิดขึ้นไม่ได้ จึงแตก และระเบิดออก กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการถล่มลงมา