คัดลอก URL แล้ว
เฝ้าระวังเผาอ้อย-เผาตอซังทำนาปรัง แก้ปัญหาฝุ่น

เฝ้าระวังเผาอ้อย-เผาตอซังทำนาปรัง แก้ปัญหาฝุ่น

“เจอเป็นดับ-จับมือคุย” เป็นมาตรการลดการเผา ที่หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำมาใช้ในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเผาพื้นที่เตรียมทำนาปรัง และบางพื้นที่ ก็เป็นฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย

หลังจากที่โรงงานน้ำตาล และหลายหน่วยงานร่วมกันรณรงค์ให้เกษตรกร ใช้วิธีการตัดอ้อยสดแทนการเผาอ้อยไปส่งโรงงาน เพื่อจะลดปัญหามลภาวะ และลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ประกอบกับการเพิ่มราคาอ้อยสดเป็นแรงจูงใจ ล่าสุดพบว่า ปีนี้เกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมา หันมาใช้วิธีตัดอ้อยสดเพิ่มมากขึ้น

เกษตรกรปลูกอ้อยในตำบลบ้านราษฎร์ อำเภอเสิงสาง บอกว่าห ากนำอ้อยที่เผาไฟไปขาย โรงงานจะหักเงิน 90 บาทต่อ 1 ตัน แต่ถ้าเป็นอ้อยตัดสด จะขายได้ราคามากกว่า ซึ่งเงินที่บวกเพิ่มส่วนนี้ ก็คือเงินที่หักมาจากอ้อยเผาไฟนั่นเอง

และถ้าเกษตรกรนำอ้อยตัดสดไปขาย โรงงานจะให้สิทธิ์ได้ลงอ้อยก่อน ไม่ต้องไปรอต่อคิว ทำให้ไม่เสียเวลา อีกทั้งหากใช้รถตัดอ้อยแทนแรงงานคน ก็จะช่วยลดต้นทุนได้มากกว่า

ส่วนที่จังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งใน 56 จังหวัด ที่มีความเสี่ยงการเผาทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงาน Kick Off ไถกลบตอซัง สร้างดินยั่งยืน พื้นสิ่งแวดล้อม เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม เแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า การเผาอ้อยในจังหวัดมีแนวโน้มลดลง แต่ที่ต้องเฝ้าระวัง การเผาตอซังเพื่อปลูกข้าวนาปรังในช่วงนี้ ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเกษตรกร ต้องเร่งไถและเพาะปลูกในช่วงที่ชลประทานปล่อยน้ำเพื่อภาคการเกษตร

เช่นเดียวกับจังหวัดมหาสารคาม กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวบ้านหนองบุญชู ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน ร่วมกิจกรรมลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ตามโครงการส่งเสริมหยุดเผาพื้นที่การเกษตร และสาธิตการเกี่ยวข้าว ไถกลบตอชัง งดเผาตอชัง โดยทางจังหวัด ตั้งชุดปฏิบัติการ 3 มาตรการ “เจอ จับ ปรับ” เจอเป็นดับจับมือคุย ปรับเปลี่ยนไม่เผา หากพบสามารถแจ้งเหตุไปยังสายด่วนฉุกเฉิน 1784 สำหรับทุกพื้นที่ หรือ 1362 สำหรับพื้นที่ป่า ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง