คดีน้องชมพู่ ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปี ซึ่งล่าสุดวานนี้ (20 ธ.ค.66) ศาลจังหวัดมุกดาหารอ่านคำพิพากษา ว่า จำเลยที่ 1 (ลุงพล) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 317 วรรคแรก ฐานกระทำ โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 (ป้าแต๋น) กับให้ จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
ต่อมาทางทนายของลุงพล ได้ยื่นหลักทรัพย์ต่อ ศาลจังหวัดมุกดาหาร เพื่อขอประกันตัวลุงพล ซึ่งศาลก็ได้อนุญาตให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ 5 แสนบาท พร้อมเดินหน้าต่อสู้ในศาลชั้นอุทธรณ์ต่อไป
โดยทางรายการ Mono เจาะข่าวเด็ด ทางช่อง Mono29 ได้เชิญ 2 ผู้เชี่ยวชาญ คือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ เพื่อวิเคราะห์ในหลาย ๆ ประเด็น ทั้งเรื่องพยานหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงแนวทางการต่อสู้คดีหลังจากนี้ของลุงพล
การตัดสินของศาล มีประเด็นอะไรบ้างที่น่าสนใจ?
ทนายเดชา กล่าวว่า ในส่วนของคำตัดสินของศาลนั้น มองว่าชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว เนื่องจากพยานปากเดียวนั้นคือ ‘พ่อแบม’ ที่เห็นลุงพลอยู่ใกล้จุดบริเวณที่พบศพของน้องชมพู่ รวมไปถึงเส้นผม และข้อพิรุธต่าง ๆ ที่ทางศาลได้พิจารณาจนนำไปสู่คำสินพิพากษาตัดสินจำคุกรวม 20 ปี กับลุงพล
ทางด้าน รศ.นพ.วีระศักดิ์ มองว่าในคดีนี้เป็นการนำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ รวมไปถึงการใช้แสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีทางด้านนิติวิทยาศาตร์เข้ามาใช้ จึงทำให้เกิดความแม่นยำที่สูง 99.99% จนกลายเป็นพยานหลักฐานวัตถุที่สำคัญในคดีนี้
ซึ่งหากอธิบายในเรื่องประเด็นเส้นผมที่พบในจุดเกิดเหตุ และบนรถของลุงพลนั้น โดยทั่วไปสามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วจากรากผมซึ่งจะบ่งบอกที่ DNA ได้อย่างชัดเจน แต่ในกรณีนี้เส้นผมมีลักษณะถูกตัดออกจากกัน การใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนจึงถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบครั้งนี้
เนื่องจากเครื่องแสงซินโครตรอนนั้น สามารถตรวจสอบและขยายภาพได้มากจึงถึงระดับอะตอม นำไปสู่การวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาตร์ ว่าเส้นผมที่พบในรถของลุงพลนั้น เป็นเส้นผมเส้นเดียวกันกับของน้องชมพู่ที่อยู่ในจุดเกิดเหตุ ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกมีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อคลี่คลายคดีสำคัญ ๆ
แนวทางสู้คดีของลุงพล ในชั้นศาลอุทธรณ์
ทนายเดชา ระบุว่า ตามกฎหมายแล้วจำเลยมีสิทธิ์ที่จะต่อสู่ทางคดีได้ แต่ในเคสของคดีน้องชมพู่ มองว่าด้วยพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ทางศาลได้รวบรวมมาใช้ประกอบทางการพิจารณาคดีนั้น เป็นสิ่งที่ตัวลุงพลมิอาจปฏิเสธได้เลย เพราะการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ก็จะใช้ข้อมูลเดิมจากศาลชั้นต้นมาพิจารณาใหม่ เพียงแต่ฝั่งของจำเลยจะใช้ข้อมูลไหนมาหักล้าง ที่ทางฝั่งโจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องร้องได้
รวมไปถึงการให้ข้อมูลที่ผ่านมาของตัวลุงพลเอง ทั้งการระบุในช่วงตั้งแต่พบศพน้องชมพู่ว่า มีบุคคลอื่นเป็นคนพาน้องชมพู่ขึ้นไปบนภูเหล็กไฟ แต่ทางทนายของลุงพลกลับใช้ข้อมูลว่าน้องชมพู่วิ่งตามหมาขึ้นไปบนภูเหล็กไฟเอง ซึ่งมันเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างย้อนแย้ง ศาลจึงมองว่าไม่ใช่สาระสำคัญในการพิจารณาคดี และไม่สามารถนำมาหักล้างได้
อย่างไรก็ตามในชั้นอุทธรณ์ฝั่งโจทก์ร่วมที่ระบุว่า เตรียมจะขอให้ศาลเพิ่มโทษเป็นประหารชีวิต ก็สามารถทำได้ง่าย เนื่องจากศาลตัดสินมาแล้วว่า ลุงพล มีความผิด จำคุกรวม 20 ปี ก็ต้องมาขยายความในมุมต่าง ๆ ทั้งเรื่องบาดแผลทางร่างกายของน้องชมพู่ ว่าเป็นที่สิ่งที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนคำพิจารณาทางคดี จากประมาทเป็นเจตนาฆ่าได้หรือไม่
จุดอ่อน-จุดแข็งในคดีนี้
รศ.นพ.วีระศักดิ์ มองว่า ในคดีนี้หากมองในเรื่องของการตรวจพยานหลักฐานต่าง ๆ ทางนิติวิทยาศาตร์แล้วนั้น จากเครื่องมือโนโลยีที่มีความน่าเชื่อถือที่แม่นยำสูง รวมถึงพยานปากสำคัญอย่าง ‘พ่อแบม’ จึงมองว่านี่เป็นจุดแข็งสำคัญที่ทางฝั่งโจทก์มั่นใจ
ทนายเดชา ระบุ จากการดูการแถลงการณ์ของทางฝั่งลุงพล หลังคำตัดสินของศาล เชื่อว่าทางลุงพลเองก็คงไม่คาดคิดว่าคำตัดสินจะออกมาในรูปแบบนี้ เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนพาน้องชมพู่ขึ้นไป ประกอบกับพยานหลักฐานทางวัตถุ และพยานปากสำคัญ จึงมองว่า ลุงพล ควรจะรับสารภาพจะดีกว่า
แต่หากที่จะต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ก็ต้องเป็นฝ่ายทนายจำเลยต้องเตรียมข้อมูลเพื่อมาต่อสู้ทางกฎหมายกันต่อไป