สมาคมกีฬาสูงอายุไทย ร่วมกับภาคี 17 สมาคม พร้อมจัดการแข่งขัน “ไทยแลนด์ โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์” ครั้งที่ 4 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมยกระดับการแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ได้นำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นจุดแข็งการสร้างมูลค่าของการแข่งขัง
นายณัฐวุฒิ เรืองเวส นายกสมาคมกีฬาผู้สูงอายุไทย ประธานอำนวยการจัดการแข่งขัน เป็นประธานแถลงข่าวการแข่งขัน “ไทยแลนด์ โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์” ครั้งที่ 4 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายวิวัฒน์ วิกรานตโนรส เลขาธิการสมาคมกีฬาผู้สูงอายุไทย , นายสุรศักดิ์ เกิดจันทึก รองผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ, นายมนตรี หาญใจ นายกสมาคมคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่ และ นายสงค์ศักย์ คําดีรุ่งริรัตน์ ผู้อำนวยการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ภาค 5 โดยมีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ผู้แทนจาก 17 ชนิดกีฬาที่มีการจัดการแข่งขันเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง เมื่อวันพุธที่ 20 ธันวาคม 2566 ที่ห้องเอเวอร์กรีน โรงแรม อเล็กซานเดอร์ รามคำแหง
สำหรับการแข่งขันไทยแลนด์ โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์ เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมกีฬาผู้สูงอายุไทยและภาคีสมาคม 17 ชนิดกีฬา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานเจตนารมณ์โครงการการแข่งขันกีฬาสูงอายุระดับประเทศและวิวัฒนาการของกีฬาผู้สูงอายุในระดับสากล ตลอดจนเพื่อพัฒนามาตรฐานและศักยภาพนักกีฬาสูงอายุไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬาเพื่อเพิ่มคุณค่าเชิงสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ในการแข่งขันกีฬา “ไทยแลนด์ โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์” ครั้งที่ 4 จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2567 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ จะมีการแข่งขัน 17 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย กรีฑา แข่งขันที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ แบดมินตัน จัดแข่งที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต บาสเกตบอล จัดแข่งที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ เพาะกาย จัดแข่งที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต บริดจ์ จัดแข่งที่โรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท จ.เชียงใหม่ ลีลาศ แข่งขันที่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล จ.เชียงใหม่ ฟุตบอล แข่งขันที่สนามฟุตบอลสมโภช 700 ปี จ.เชียงใหม่ เกทบอล แข่งขันที่สนามหญ้าเทียม มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตเชียงใหม่ กอล์ฟ แข่งขันที่สนามกอล์ฟลานนา จ.เชียงใหม่ คาราเต้ แข่งขันที่ห้องประชุมใหญ่ สนามกีฬา 700 ปี จ.เชียงใหม่ เซปักตะกร้อ แข่งขันที่โดมอเนกประสงค์เหลืองอร่าม มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตเชียงใหม่ ว่ายน้ำ จัดแข่งที่สระว่ายน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เทเบิลเทนนิส จัดแข่งที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต เทนนิส จัดแข่งที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่ วู้ดบอล จัดแข่งที่สนามสวนหลวงล้านนา ร.9 จ.เชียงใหม่ กระดานยืนพาย แข่งที่โรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท จ.เชียงใหม่ และ เปตอง จัดแข่งที่สนามเปตอง สนามกีฬา 700 ปี จ.เชียงใหม่
โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับการรับรองการแข่งขันจากสมาคมสหพันธ์กีฬาแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (GAAPSF) เพื่อเป็นการนำกีฬามาเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
สัญลักษณ์ของการแข่งขันไทยแลนด์โอเพ่นมาสเตอร์เกมส์ ครั้งที่ 4 คือ “ช้าง” และ มีคำขวัญประจำการแข่งขันในครั้งนี้ คือ มิตรภาพนิรันดร์ “Happiness of Friendship” ซึ่งมีความหมายถึง ความสุขแห่งมิตรภาพของผู้ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมในการแข่งขันไทยแลนด์ โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์ ครั้งที่ 4 ในครั้งนี้
การแข่งขันกีฬาสูงอายุ ไทยแลนด์ โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์ ครั้งที่ 4 จะมีการเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 และปิดรับสมัครในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถดูรายละเอียดได้ที่ Facebook เพจ Thailand Open Masters Games หรือ www.tomgthailand.com
นายณัฐวุฒิ เรืองเวส นายกสมาคมกีฬาผู้สูงอายุไทย ประธานอำนวยการจัดการแข่งขันฯ กล่าวว่า ในตอนนี้ การจัดการแข่งขัน “ไทยแลนด์ โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์” ครั้งที่ 4 จังหวัดเชียงใหม่ มีพร้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านสนามแข่งขัน สถานที่พัก ระบบการขนส่งต่าง ๆ โดยทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ระดมบุคลากรทุกภาคส่วนของจังหวัดมาเข้าร่วมประชุมหารือเพื่อให้การจัดการแข่งขันครั้งนี้ได้รับความสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำอัตลักษณ์จังหวัดเป็นทุนในการสร้างมูลค่าการแข่งขัน
ด้านสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญได้เข้ามาสนับสนุนการแข่งขันนี้ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน มหกรรมกีฬาสูงอายุระดับประเทศ เป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มกิจกรรมทางกาย สร้างกระแสสังคมและแรงบันดาลใจให้ประชากรทุกกลุ่มวัย หันมาให้ความสนใจการดูแลสุขภาพกายและใจเพิ่มขึ้น
สิ่งที่พิเศษสุดสำหรับ การแข่งขัน “ไทยแลนด์ โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์” ก็คือ เราหวังที่จะให้มีนักกีฬาต่างชาติเข้าร่วมการแข่งขันมากกว่า 3 ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจาก 2 ครั้งแรก เราเจอปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ทำให้ไม่มีนักกีฬาต่างชาติ ส่วนครั้งที่ 3 ก็มีบางส่วนเป็นจำนวนกว่า 30 ประเทศ แต่ครั้งนี้ คาดว่า จะมากกว่าทุกๆ ครั้งอย่างแน่นอน เพราะเราต้องการพัฒนาให้รายการนี้เป็นการแข่งขันที่เปิดโอเพ่นให้คนไทยและคนต่างชาติเข้าร่วมการแข่งขันได้
ในงานทาง สมาคมกีฬาผู้สูงอายุไทย ได้มีการมอบรางวัลนักกีฬาอาวุโสดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 เริ่มจาก สมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย ได้แก่ นายสว่าง จันทร์พราหมณ์ และ นางวรรธนันท์ พลอยแหวนรัตนา สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ได้แก่ นายจักรพันธ์ ธนธีรธรรม และ นางสาวพีรญา มั่นกิจอมร สมาคมกีฬาบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย ได้แก่ พลโท ศิวเรศ ศรีจันทร์วงศ์ และ ดาวใจ วงค์ชมภู สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย ได้แก่นายสุวิจักขณ์ พินทุสรชัย และ นางสาวสิมรา ชุ่มชื่น สมาคมกีฬาบริดจ์แห่งประเทศไทย ได้แก่ นายพันธ์จรูญ จริยานันทเนตร สมาคมกีฬาลีลาศแห่งประเทศไทย ได้แก่ นายมานิตย์ เพิ่มผาสุข และ นางสาวกนกลักษณ์ จีรวงศ์สุนทร สมาคมกีฬาฟุตบอลอาวุโสไทย ได้แก่ ดร.รัศมี ศรีสุนทร สมาคมกีฬาเกทบอล ได้แก่ นายจุมพล อามาตย์มนตรี สมาคมกีฬาคาราเต้แห่งประเทศไทย ได้แก่ นายทวีสุข เชี่ยวชาญปรีชากุล และ นางสาวนฤมล ช่วยทุกข์ สมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทย ได้แก่ นายภักดี แดงวัฒนาไพบูลย์ สมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย นายอนันต์ เอี่ยวเจริญ และ นางสุมาลี จินตนุกูล สมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย ได้แก่ นายวิโรจน์ พงศ์เต็มสุข และ นางสาวประภาศรี พิษณุพงควิชชา สมาคมกีฬาเทนนิสสูงอายุไทย ได้แก่ นายนิธิ นาคะธีรานนท์ และ นางกมลรัตน์ เวชวิสิฐ สมาคมกีฬาวู้ดบอลแห่งประเทศไทย ได้แก่ นายเหน่ง ใจประเสริฐ และ นางทองปลิว พาชีรัตน์สมาคมกีฬากระดานโต้คลื่นแห่งประเทศไทย ได้แก่ นายเดชา สิทธิเดช และ นางสาวพนัชกร ปังลิขิต สมาคมกีฬาเปตองแห่งประเทศไทยฯ ได้แก่ นายภูดิษ พื้นไทย และ นางบุญธรรม ธนพรโพธา