คัดลอก URL แล้ว
ครม.ตั้ง KPI วัดผลงานผู้ว่าฯ แก้ปัญหาฝุ่น

ครม.ตั้ง KPI วัดผลงานผู้ว่าฯ แก้ปัญหาฝุ่น

ครม.​ตั้ง KPI ผู้ว่าราชการจังหวัด แก้ปัญหาฝุ่น​ PM. 2.5 ประเมินการทำงาน 17 จังหวัดภาคเหนือ ควันพิษต้องลดลง ร้อยละ​ 40 ส่วน​กรุงเทพมหานคร ต้องลดลง ร้อยละ 20

ฤดูฝุ่นกลับมาอีกครั้ง วันนี้ 18 จังหวัด ยังมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่ประชุม ครม.วันนี้ เห็นชอบมาตรการแก้ปัญหา วางเป้าหมายพื้นที่หลัก 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล​ ต้องลดการเผาป่าให้ได้ ร้อยละ 50 ทั้งพื้นที่อนุรักษ์ ป่าสงวนฯ และ พื้นที่เกษตรกรรม​ และยังกำหนด KPI 17 จังหวัดภาคเหนือ​ ต้องมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ลดลงร้อยละ 40 กรุงเทพมหานครลดลง ร้อยละ 20 / ภาคอีสานต้องลดลง ร้อยละ 10 และภาคกลางอีก ร้อยละ 20

11 มาตรการแก้ฝุ่นพิษเร่งด่วน


ส่วนผลการหารือร่วมกันของหลายหน่วยงานที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพ คาดการณ์ว่า วิกฤตฝุ่นจะต่อเนื่องไปจนถึง กุมภาพันธ์ปีหน้า


โดยมีการประกาศ 11 มาตรการ ประกาศสงครามต่อสู้ฝุ่น PM 2.5 ทั้งประเทศ เช่น การคุมพื้นที่เสี่ยงเผา ป่าอนุรักษ์ 11 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่ง กำหนดเงื่อนไข อนุญาตเผา และบริหารจัดการเผาพื้นที่เกษตร / การสนับสนุนเครื่องจักรกลให้เกษตรกร จัดการเศษวัสดุเหลือใช้ รวมถึงมาตรการไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร แปรรูปสร้างรายได้ และจัดตั้ง “ศูนย์รับซื้อ” การเพิ่มเงื่อนไขการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ – แรงจูงใจ ให้เอกชนร่วมแก้ไขปัญหาความชัดเจนเรื่องการห้ามเผา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ห้ามเผาเด็ดขาด มีความผิดตามกฎหมายส่วนพื้นที่การเกษตร หากจะเผา ต้องขออนุญาตกับกรมการปกครองทุกครั้ง หากเผาเอง จะมีความผิดตามกฎหมาย

ทำประกันภัยให้อาสาดับไฟป่า
หนึ่งปัจจัยที่น่าห่วงไม่แพ้กัน คือ ไฟป่า เพราะทุกปีจะมีประชาชน ที่เป็นอาสาสมัครดับไฟป่า ได้รับบาดเจ็บกว่าหนึ่งร้อยคนต่อปี และเสียชีวิตเฉลี่ย 1.5 คนต่อปี แต่ละปีใช้งบประมาณผ่านกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือ แต่ยังไม่ครอบคลุม
ปีนี้เป็นปีแรก ที่มีบริษัทประกันภัยภาคเอกชน เข้าร่วมสมทบในกองทุน จัดทำประกันภัยให้อาสาดับไฟป่า 4,862 คน จาก 361เครือข่าย ใน 19 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบจุดฮอตสปอตสูงสุดกว่าที่อื่นทุกปี
หากบาดเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จะได้เงินชดเชยจากการขาดรายได้วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน แต่ถ้าเสียชีวิต หรือต้องทุพพลภาพ จะได้รับเงินรายละ 1 แสนบาท โดยประกันภัยมีอายุ 5 เดือน ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2567


ปัจจุบันเครือข่ายอาสาดับไฟป่าทั่วประเทศมีกว่า 1,900 กลุ่ม อาสามากกว่า 15,000 คน นายนรินทร์ บอกว่า จะเร่งหาแนวร่วมภาคเอกชน ทำประกันภัยให้กับอาสาพื้นที่อื่น เพื่อให้ครอบคลุม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง