คัดลอก URL แล้ว
ดีเอสไอ สอบเพิ่ม 2 บริษัท หลังพบเชื่อมโยงนำเข้าหมูเถื่อน

ดีเอสไอ สอบเพิ่ม 2 บริษัท หลังพบเชื่อมโยงนำเข้าหมูเถื่อน

วันนี้ ( 1 ธ.ค.66) พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพันตำรวจตรี ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน เข้าสอบปากคำ นายบริบูรณ์ (สงวนนามสกุล) กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งได้เข้าพบพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ปากคำ หลังจากพบว่าทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศ

นายบริบูรณ์ เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการเข้ามาชี้แจงกับทางพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษก็เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าหมูเถื่อนแต่อย่างใด โดยทั้งสองบริษัทของตนเองนั้นนำเข้าสินค้าประเภทอาหารหลายชนิด เพื่อส่งไปจำหน่ายให้ประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ได้ส่งจำหน่ายในประเทศไทยแต่อย่างใด

ในส่วนของเนื้อหมูที่เกิดปัญหานั้น ทั้งสองบริษัทได้มีการสั่งนำเข้าจากต่างประเทศมาทั้งหมด 41 ตู้ ในเดือนสิงหาคม ปี 2565 ซึ่งนำเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฏหมายแต่มาติดขัดตรงขบวนการของการอนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์ ที่กรมปศุสัตว์เป็นผู้อนุญาต เนื่องจากไม่ยอมอนุญาตให้เคลื่อนย้ายสักที ซึ่งต่อมาได้มีการฟ้องศาลปกครองเพื่อเอาผิดกรมปศุสัตว์กรณีที่ไม่อนุญาตให้เนื้อหมูของบริษัทตนเองเคลื่อนย้ายส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า จนทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจ เพราะต้องเสียค่าไฟให้กับท่าเรือแหลมฉบังถึงวันละ 5 แสนบาท

แล้วจู่ ๆ ทางกรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ ก็มาเหมารวมว่าหมูตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทตนเองเป็นหมูเถื่อนไปด้วย ทั้งที่นำเข้ามาอย่างถูกต้อง ซึ่งทางบริษัทก็ได้มีการฟ้องร้องไปยังศาลปกครอง และทำหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอความเป็นธรรมแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตนเองได้ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นการถูกกันแกล้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทของตนเคยร้องเรียนไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นการเรียกรับผลประโยชน์ จึงอาจทำให้ไม่พอใจจนถูกกลั่นแกล้ง อีกทั้งหมูของกลางทั้ง 41 ตู้นั้น ก็ได้ถูกทำลายทิ้งไปแล้ว ทั้งที่เป็นของกลางที่ควรเก็บไว้เนื่องจากยังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลปกครอง ยิ่งสร้างความเสียหายให้กับตนเองมากขึ้น วันนี้จึงต้องมาชี้แจงกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้แยกปลาดีออกจากขัองปลาเน่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับบริษัทของตนเองด้วย

ด้านพันตำรวจตรี ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ผู้ถูกกล่าวหารายนี้ ได้มารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกับให้ข้อมูล และเอกสารบางส่วนแก่พนักงานสอบสวนแล้ว เช่นคำฟ้องศาลปกครองและหนังสือร้องเรียนถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งยังต้องนำหลักฐานมาชี้แจงเพิ่มเติมอีก โดยเบื้องต้นทราบว่าทั้งสองบริษัทนั้นเป็นบริษัทชิปปิ้งและนำเข้าสินค้าอาหารแช่แข็งหลายชนิดเพื่อส่งออกไปขายที่ สปป.ลาว

สำหรับในคดีหมูเถื่อนที่มีการตรวจพบตู้คอนเทนเนอร์หมูแช่แข็งที่ท่าเรือแหลมฉบังจำนวน 161 ตู้ ทั้ง 10 คดี ก็ได้มีการแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นบริษัทชิปปิ้งครบแล้ว ซึ่งข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ ของผู้ถูกกล่าวหานั้น ก็จะต้องนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ส่วนการเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายคดีหมูเถื่อนยังคงเดินหน้าต่อไป โดยจะเริ่มปฎิบัติการในสัปดาห์หน้าอย่างต่อเนื่อง

พนักงานสอบสวนจึงดำเนินคดีกับ นายบริบูรณ์ ในขัอหานำของผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

สำหรับกลุ่มบริษัทนำเข้า หรือ ชิปปิ้ง ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ขอศาลอนุมัติหมายจับไปแล้ว 10 ราย ทั้งหมดถูกจับกุมดำเนินคดี และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว ประกอบด้วย

ส่วนอีก 2 บริษัทที่เตรียมขอศาลออกหมายจับ คือ บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด โดยมีนายบริบูรณ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ซึ่งวันนี้ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ มาเข้าพบพนักงานสอบสวน หลังจากที่ทราบว่าชื่อของบริษัทไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีหมูเถื่อน

โดยทั้ง 2 บริษัทนี้ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตู้คอนเทเนอร์หมูเถื่อน 161 ตู้ ที่อยู่ในท่าเรือแหลมฉบัง โดยพบว่าในจำนวนดังกล่าว มีจำนวน 41 ตู้ เป็นของ 2 บริษัทนี้ และยังเกี่ยวข้องกับกลุ่มค้าหมูเถื่อนซึ่งเป็นองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่กลุ่มใหม่ ที่กรมสอบสวนพิเศษเพิ่งตรวจสอบพบว่ามีความเชื่อมโยงกับอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ อักษรย่อ ป.

ในส่วนของกลุ่มนายทุนที่เป็นผู้สั่งบริษัทชิปปิ้งนำเข้าหมู ได้จับกุมไปแล้ว 2 ราย คือ สองพ่อลูก (นายวิรัช และนายธนกฤต (สงวนนามสกุล)) และได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาซึ่งเป็นนายทุนเพิ่มเติมไปอีก 1 ราย โดยรายใหม่นี้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง