“ปลาจระเข้”ติดไซชาวประมงแม่น้ำโขง นักวิชาการประมงชี้ไม่ใช่ปลาในธรรมชาติ
ปลาจระเข้ น้ำหนัก 4.4 กิโลกรัม ว่ายมาติดไซหาปลาของชาวประมงริมแม่น้ำโขง ในเขตบ้านดอน ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย
นายเทง จันทะวงค์ ชาวประมงที่จับปลาได้เล่าว่า ได้มาสำรวจไซลั่นอุปกรณ์หาปลาพื้นบ้าน ที่ดักปลาไว้ พบว่ามีไซ 1 อันประตูได้ปิดลงมา พบว่าภายในมีปลาติดอยู่ แต่มีลักษณะแปลก ไม่เหมือนปลาแม่น้ำโขงทั่วไป จึงได้เรียก นายสมศักดิ์ นันทะรัตน์ เพื่อนชาวประมงมาช่วยดู ครั้งแรกคิดว่าเป็นปลาสเตอร์เจียนซึ่งพักหลังจับได้มาก แต่ตัวนี้มีปากคล้ายจระเข้ สร้างความแตกตื่นให้กับผู้ที่มาพบเห็น นายสมศักดิ์ ระบุว่าปลาดังกล่าวเป็นปลาอัลลิเกเตอร์ คาดว่าจะเป็นปลาที่มีคนเลี้ยงไว้เมื่อโตเต็มที่แล้วนำมาปล่อยเพราะเลี้ยงไม่ไหว หรืออาจจะหลุดมาจากบ่อที่เลี้ยงไว้ก็ได้ หลังจากนี้จะได้นำไปมอบให้สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ให้ดูแลและทำการวิจัยถึงการมีอยู่และการที่อยู่ในแม่น้ำโขงจะมีผลกระทบกับปลาพื้นที่ถิ่นหรือไม่
ดร.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์ อาจารย์สาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ปลาชนิดนี้ เป็นปลาขนาดใหญ่ 5- 10 กิโลกรัม มีพื้นถิ่นฐานอยู่ในอเมริกาตอนใต้ มีการนำเข้ามาเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม และมีการเพาะเลี้ยงเพื่อสันทนาการ ปลาชนิดนี้ ทนต่อภาวะออกซิเจนน้อย ปรับตัวได้ดี ที่ผ่านมาพบว่าการบริโภคปลาชนิดนี้โดยนำเนื้อไปปรุงสุก แต่ไข่มีพิษเบื่อเมา เพื่อเป็นการเลี่ยงอันตรายควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อด้วย
“ในไทยยังไม่ได้มีการติดตามประเด็นเรื่องนี้นัก ที่ผ่านมาพบปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำหลายแห่งในประเทศไทยทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และอีสาน คาดว่าหลุดมาจากการนำมาเลี้ยง หรือตั้งใจปล่อยเพราะเลี้ยงไม่ไหว ส่วนการขยายพันธุ์ จะเป็นไปได้ยากในธรรมชาติ หากว่าสภาพแวดล้อมแหล่งน้ำธรรมชาติยังมีการจัดการที่ดี ปลาท้องถิ่นจะกั้นไม่ให้ปลาต่างถิ่นเข้ามามีโอกาสขยายพันธุ์ได้” ดร.ชัยวุฒิ กล่าว
ในส่วนของ สเตอร์เจียน ที่พบบ่อยในแม่น้ำโขง มีการพบในแม่น้ำโขงพื้นที่ จ.เชียงราย ในฝั่งลาว จนถึงภาคอีสาน ปัจจุบันพบว่า เพราะมีการนำมาเลี้ยง เพื่อเป็นอาหาร และหลุดลอดมาในแม่น้ำโขง ในกรณีของปลาอัลลิเกเตอร์ ยังไม่ได้เป็นปลาที่นิยมนำมาบริโภคจึงคาดว่าจะเป็นการหลุดหรือนำมาปล่อยเพราะเลี้ยงไม่ไหว
#ปลาอัลลิเกเตอร์ #ปลาสเตอร์เจียน #แม่น้ำโขง #ปลาจระเข้ในแม่น้ำโขง #MONONEWS #MONO29 #ข่าวโมโน