คัดลอก URL แล้ว
รับ 41 คนในเล่าก์ก่าย ย้ำ! คัดแยกคนมีคดี-เหยื่อค้ามนุษย์-คอลเซ็นเตอร์ พร้อมเยียวยา

รับ 41 คนในเล่าก์ก่าย ย้ำ! คัดแยกคนมีคดี-เหยื่อค้ามนุษย์-คอลเซ็นเตอร์ พร้อมเยียวยา

กองกำลังผาเมือง ร่วม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์-ตำรวจ แถลงรับ 41 คนในเล่าก์ก่าย ย้ำ คัดแยกคนมีคดี-เหยื่อค้ามนุษย์- คอลเซ็นเตอร์ พร้อมเยียวยา ชี้เป็นบทเรียน หามาตรการป้องกัน เตรียมถกคณะกรรมการTBC 30 พ.ย.นี้

18 พ.ย.2566 ที่ ค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมือง จังหวัดเชียงราย พลตรีประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมแถลงข่าว การช่วยเหลือคนไทยจากเล่าก์ก่ายว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศเมียนมา บริเวณเมืองเล่าก์ก่าย และเมืองหนานเติ้ง ส่งผลให้คนไทยที่เดินทางไปทำงานได้รับผลกระทบและเกิดความไม่ปลอดภัย ประมาณ 305 คน แบ่งเป็นพื้นที่เมืองเล่าก์ก่ายประมาณ 264 คนและพื้นที่เมืองหนานเติ้งจำนวน 41 คน

ส่วนการปฏิบัติการนี้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยมีหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง ในฐานะคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทยเมียนมา หรือ TBC เป็นหน่วยปฏิบัติหลัก

โดยมีกองกำลังทหารเมียนมา ทหารภาค ทหารบกสามเหลี่ยม เป็นหน่วยหลักในการประสานงานเพื่อนำคนไทยออกจากพื้นที่เสี่ยง และเป็นผู้ดูแล อำนวยความสะดวก ในการเคลื่อนย้ายจากพื้นที่

โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมยานพาหนะรับคนไทย 41 คนกลับเข้าสู่ประเทศบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแม่สายแห่งที่ 1 และเดินทางต่อไปยังมณฑลทหารบกที่ 37 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เข้าสู่กระบวนการคัดกรอง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดูแลในเรื่อง การดำเนินการในขั้นตอนซักถาม
ทั้งนี้ย้ำว่าคนไทยทั้ง 41 คนยังถือเป็นผู้ประสบภัย นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย ดำเนินการในเรื่องของการเยียวยาทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงการฝึกอาชีพกับกระทรวงแรงงานต่อไป

พลตรีประพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับคนไทยที่ยังตกค้างอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย นั้น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกได้ประสานกับประเทศเมียนมาเพื่อเตรียมการนำคนไทยเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดเพื่อส่งกลับประเทศไทยต่อไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งทุกฝ่ายพยายามจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ตอนนี้มีการเตรียมการอยู่ และได้ประสานงานกับทางเมียนมาให้ดูแลในเรื่องความปลอดภัย

ส่วนแนวทางการป้องกัน ไม่ให้คนไทยข้ามแดนผิดกฎหมายไปทำงานเป็น กระบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำเรื่องนี้มาเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้อีก รวมถึงหาแนวทางป้องกันกรณีที่จะมีคนไทยลักลอบไปทำงานผิดกฎหมาย ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการTBC จะประชุมกันอีกครั้งวันที่ 30 พ.ย.เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สำหรับกระบวนการคัดแยก เรามีข้อมูลแล้วว่าใคร เป็นผู้ต้องหา และเป็นผู้เสียหาย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมีข้อมูลหมดแล้ว ในส่วนของทหารเพียงแค่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและก็ดูแลแล้วก็จะเป็นเรื่องของกระบวนการคัดแยก ใครที่ต้องเยียวยา พม.ดำเนินการ ส่วนใครที่มีความผิด ตำรวจก็ดำเนินการ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง