คัดลอก URL แล้ว
สบส.ส่งทีมวิศวกร ประเมินโครงสร้างสถานพยาบาล 14 แห่ง

สบส.ส่งทีมวิศวกร ประเมินโครงสร้างสถานพยาบาล 14 แห่ง

นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณี การเกิดแผ่นดินไหว ในเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ณ รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งสามารถรับรู้ความสั่นไหวได้ทั่วภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้มากที่สุด ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่ออาคารสถานพยาบาล ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลายแห่ง กรม สบส.จึงสั่งการให้ทีมเอ็มเสิร์ท (Medical Supportive Emergency Response Team : MSERT) หรือทีมวิศวกรฉุกเฉิน

ซึ่งประกอบด้วย วิศวกรเครื่องมือแพทย์ และวิศวกรโยธา ของศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 และ 8 ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างอาคารของสถานพยาบาลใน 3 จังหวัด ทั้ง 14 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย 1. จังหวัดเชียงราย ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, โรงพยาบาลแม่ลาว, โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร, โรงพยาบาลแม่จัน, โรงพยาบาลพาน, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เชียงของ, โรงพยาบาลเชียงแสน, โรงพยาบาลพญาเม็งราย, โรงพยาบาลดอยหลวง, โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง และโรงพยาบาลแม่สาย

2.จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลสันทราย และโรงพยาบาลเชียงดาว 3. จังหวัดสกลนคร ได้แก่ โรงพยาบาลสกลนครเพื่อประเมินความเสี่ยง และฟื้นฟูอาคารสถานพยาบาลในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อโครงสร้าง พร้อมกำชับทีมเอ็มเสิร์ท ให้เฝ้าระวังสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้รับบริการ ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน โครงสร้างอาคารเดิมของสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว ทางกองแบบแผน กรม สบส.ได้ดำเนินการออกแบบปรับปรุงโครงสร้างให้มีความมั่นคง แข็งแรงสามารถต้านทานการสั่นสะเทือนหากเกิดแผ่นดินไหวแล้ว

ส่วนอาคารที่ก่อสร้างใหม่ กองแบบแผน ได้ออกแบบให้เป็นอาคารต้านแผ่นดินไหว ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน จึงสามารถมั่นใจได้ว่าอาคารสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีความมั่นคง สามารถรองรับสถานการณ์แผ่นดินไหวได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง