คัดลอก URL แล้ว
“ศิริกัญญา” อัด รัฐบาล รู้แก่ใจดิจิทัลวอลเล็ตถึงทางตัน ชง ออกพ.ร.บ.กู้เงินหาทางลง

“ศิริกัญญา” อัด รัฐบาล รู้แก่ใจดิจิทัลวอลเล็ตถึงทางตัน ชง ออกพ.ร.บ.กู้เงินหาทางลง

เมื่อเวลา 14.55 น. วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่า ขณะนี้ความชัดเจนเริ่มปรากฎแล้ว แต่เป็นความชัดเจนที่ไม่มีเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งนายกฯเลือกเส้นทางที่ยากที่สุด คือการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้าน เพื่อระดมทุนมาแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แม้วันนี้หลักเกณฑ์จะมีการพูดถึงคนที่รายได้ต่ำกว่า 7 หมื่นบาท แต่ท้ายที่สุดอาจไม่มีใครได้เงินจากโครงการนี้เลย เพราะเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และขัดต่อพ.ร.บ.วินัยการเงิน การคลัง มาตรา 53 ที่มีการระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ จะทำได้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่วันนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร เราไม่ได้อยากกดดันให้มีการร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราคิดว่านี่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริงที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้เด็ดขาด ว่ารัฐบาลจะออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ได้หรือไม่ โดยไม่ต้องไปถึงมือขององค์กรอิสระที่ไม่เป็นวิถีทางประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ที่ต้องออกมาพูด เพราะการออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มีความสุ่มเสี่ยงจริงๆ เหมือนกับกรณีพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท อย่างชัดเจน ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ตนตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลเลือกทางนี้ เพราะไม่ต้องการให้โครงการนี้สำเร็จ แต่ต้องการให้เข้าทางนักร้องต่างๆ เพื่อหาทางลงให้สวยงามของโครงการที่มาถึงทางตันโดยสมบูรณ์แล้ว ตนไม่ได้เห็นด้วยกับการร้องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ แต่ขอให้รัฐบาลได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองโดยการให้กฤษฎีกาตีความ

“รัฐบาลเองน่าจะเห็นแล้วว่าไม่มีทางที่จะไปได้จริงๆ ทางเลือกนี้เป็นการหาทางลงมากกว่าที่จะเดินหน้าโครงการนี้จริงๆ ถ้ากฤษฎีกาตีความเข้าข้างให้ผ่าน และส.ส. ในสภาก็ให้ผ่าน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือภาระหนี้ในแต่ละปีงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของงบรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณอย่างใหญ่หลวง สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้จะทำภาระดอกเบี้ยเกิน 10% ในงบประมาณปี 68 ทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้พูดถึงทั้งเรื่องภาระหนี้ และภาระดอกเบี้ย ความเสี่ยงนี้จะไม่เกิดขึ้นหากพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ถูกทำแท้งตั้งแต่ต้นโดยกฤษฎีกา” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

เมื่อถามว่า แบบนี้เหมือนเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอดหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ถ้าจะพูดแบบนั้นน่าจะได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาจากการที่ไม่ได้คิดนโยบายอย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่ก่อนหาเสียง เมื่อถึงทางตันจึงต้องหาทางลงแบบนี้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เงื่อนไขต่างๆ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนลอยมาจากฟ้าโดยสิ้งเชิง หากตัดตามสัดส่วนผู้มีรายได้ 20% บนสุดต้องอยู่ประมาณ 6 หมื่นบาท แต่วันนี้เราไม่รู้ว่าตัวเลข 7 หมื่นบาท มาจากไหน จะตัดคน 4 ล้านกว่าคนได้จริงหรือไม่ ตนคิดว่ารัฐบาลต้องการตัวเลขกลมๆที่ 50 ล้านคน จึงไม่มีหลักเกณฑ์อะไรมากนัก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง