วันนี้ (10 พ.ย.66) พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกันในการแก้ไขปัญหารถบรรทุกวิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยการประชุมใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุม นายชัชชาติ เปิดเผยว่า การหารือในวันนี้เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหารถบรรทุกที่วิ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัญหาหลักๆจะมี 2 เรื่องคือ วิ่งนอกเวลา และ น้ำหนักของรถบรรทุกที่เกินกว่าอัตราที่กำหนด เพราะที่ผ่านมาทาง กทม.ไม่เคยจับรถบรรทุกที่ผิดกฎระเบียบมาก่อน และเมื่อคืนที่ผ่านมามีการไปตรวจก็พบว่า รถบรรทุกคันดังกล่าวมีน้ำหนักเกิน จึงได้สั่งการให้มีการตั้งศูนย์ตรวจน้ำหนักรถบรรทุกในพื้นที่กทม. และได้ขอความร่วมมือทางกรมทางหลวงและเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการ
ซึ่งทางกรมทางหลวงจะสนับสนุนในเรื่องของการให้ความรู้เจ้าหน้าที่ กทม.และอุปกรณ์การชั่งน้ำหนักแบบเคลื่อนที่ ส่วนตำรวจจะดูในเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดี พร้อมเห็นตรงกันที่จะดำเนินคดีกับเจ้าของรถบรรทุกในการยึดรถทันทีหากพบกระทำความผิด ส่วนคนขับเป็นเพียงคนรับจ้างที่มาขับรถเท่านั้น พร้อมขอให้มีการตั้งด่านชั่งก่อนเข้าพื้นที่ กทม.อีกด้วย
นอกจากนี้ นายชัชชาติ เผยอีกว่า ขณะนี้กำลังประสานกับทางกรมขนส่งทางบกในการให้ติด GPS รถบรรทุกทั่วประเทศ เพื่อจะสามารถตรวจสอบว่ารถบรรทุกดังกล่าวนั้นขับเกินเวลาหรือไม่ และจะสามารถตรวจได้ว่าน้ำหนักเกินหรือไม่ แต่ประเด็นนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น ยังตัองมีการหารือร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน
ด้าน พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ กล่าวถึงหน้าที่ของตำรวจว่า ตำรวจได้รับข้อมูลจาก ทางกทม.พบว่ามีไซต์งานก่อสร้างทั่ว กทม. กว่า 300 แห่ง และจะสุ่มออกตรวจร่วม หารถบรรทุกที่น้ำหนักเกินและปฏิบัติผิดระเบียบจะต้องถูกยึดรถและดำเนินคดีทันที
ส่วนความคืบหน้าคดีรถบรรทุกที่ตกบ่อการไฟฟ้านครหลวงในพื้นที่ สน.พระโขนง นั้น ขณะนีัได้มีการเรียกเจ้าของรถมาสอบปากและได้ยึดรถของกลางไว้แล้วเช่นกัน และจะทำคดีนี้เป็นคดีตัวอย่างที่จะเห็นว่า เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนเอาจริงกับการกวดขันเรื่องน้ำหนักรถบรรทุก
ส่วนกรณีเรื่องส่วยสติกเกอร์ ตนไม่ได้รับผิดชอบในส่วนงานนี้ ต้องไปถามทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่ามอบหมายใครให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว
ด้าน นายสราวุธ เผยว่า กรมทางหลวงมีหน้าที่ในการดูแลถนนทั่วประเทศประมาณ 52,000 กม. จากทั้งหมด 7 แสนกว่า กม. ปัจจุบันมีด่านชั่งน้ำหนักถาวรอยู่ประมาณ 101 ด่านบนถนนสายหลัก แต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ และกำลังอยู่ระหว่างศึกษาทำด่านชั่งน้ำหนักถาวรเพิ่มอีก 85 ด่านในอนาคต ซึ่งในแต่ละปีอาจมีเพิ่ม 2-3 ด่าน ในเส้นทางคมนาคมหรือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ
ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนในเส้นทางอื่น ๆ เช่น เส้นทางรอง เรื่องของรถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยได้ส่งรถชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ไปตรวจจับได้ถึงปีละ 3-4 พันคัน และยังพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายอยู่ จึงอยากขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดูแลในเส้นทางรองด้วย ซึ่งครั้งนี้ รอง ผบ.ตร. และ ผู้ว่าฯ กทม. ขอความร่วมมือ กรมทางหลวง
ซึ่งมีภารกิจหน้าที่ในการตรวจชั่งน้ำหนักรถอยู่แล้ว ก็จะใช้เทคโนโลยีของ AI ที่มีอยู่แล้ว 42 แห่ง ทั่ว กทม. เข้ามาช่วยตรวจจับ หากพบว่ามีแนวโน้มบรรทุกน้ำหนักเกิน ก็จะเข้าดำเนินการจับกุมทันที หรือข้อเสนอจาก ผู้ว่าฯ กทม. ในการติดตั้ง GPS ที่รถบรรทุกทุกคัน ก็จะทำให้สามารถทราบเส้นทางได้ว่ารถวิ่งไปที่ไหนบ้าง
เบื้องต้นได้มีการหารือกับสมาคมรถบรรทุกแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์อื่นๆ ให้ช่วยดูแลควบคุมสมาชิกให้ปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังจะเพิ่มมาตรการความเข้มข้นในการตรวจจับรถบรรทุกให้ครอบคลุม รวมถึงหารือจัดตั้งงบประมาณ เพิ่มด่านชั่งน้ำหนักถาวรในเส้นทางอื่นๆ และบริเวณหน้านิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อประหยัดเวลาการตรวจจับบนท้องถนนได้ด้วย