คัดลอก URL แล้ว
เอลนีโญ กระทบท่องเที่ยวญี่ปุ่น ต้นไม้ไม่เปลี่ยนสี – หิมะละลาย

เอลนีโญ กระทบท่องเที่ยวญี่ปุ่น ต้นไม้ไม่เปลี่ยนสี – หิมะละลาย

สำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่นได้รายงานผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในประเทศญี่ปุ่นที่ในขณะนี้ยังคงอยู่ในเกณฑ์อากาศอบอุ่น และนับเป็นเดือนพฤศจิกายนที่ร้อนที่สุดในรอบหลายสิบปีของประเทศ และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมหลาย ๆ อย่างในประเทศโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วงฤดูการท่องเที่ยวของประเทศแล้ว

โดยทางด้านของภาคตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นมีอุณหภูมิสูงผิดปรกตินับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงที่สุดของเดือนพฤศจิกายน นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติตั้งแต่เมื่อปี 1923

หิมะละลาย เลื่อนเปิดสกีรีสอร์ท

สภาพอากาศที่ยังคงมีอุณหภูมิสูงมากกว่าปรกติส่งผลให้อุณหภูมิที่ยอดเขาฟูจิยังคงสูงกว่าศูนย์องศาเซลเซียสเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน นับเป็นครั้งที่ 7 เท่าที่เคยมีบันทึกมาตั้งแต่ปี 1932 ส่งผลให้สกีรีสอร์ทในจังหวัดนากาโน่จำเป็นต้องประกาศเลื่อนการเปิดให้บริการออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากหิมะเทียมที่เตรียมไว้ละลายต่อเนื่อง

ซึ่งตามปรกติเมื่ออุณหภูมิบริเวณยอดเขาฟูจิลดลงต่ำกว่าศูนย์องศาฯ ทางรีสอร์ทจะมีการสร้างหิมะเทียม เพื่อเปิดกิจกรรมการท่องเที่ยว แต่ในปีนี้ การสร้างหิมะเทียมไม่สามารถทำได้เหมือนเช่นกับปีที่ผ่านมา เพราะสภาพอากาศ

พื้นที่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น เช่น ฮอกไกโด อาจมีหิมะตกน้อยกว่าปรกติ ซึ่งมีภาวะอากาศร้อนกว่าปรกติถึง 1.2 องศาฯ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเดือนตุลาคมในปีที่ผ่าน ๆ มา

ซึ่งลานสเก็ตกลางแจ้งคุชิโระ ที่จังหวัดฮอกไกโดก็ได้รับผลกระทบเช๋นกันเนื่องจากอากาศที่อุ่นมากกว่าปรกติ ทำให้ลานสเก็ตน้ำแข็งไม่สามารถที่จะเปิดให้บริการได้ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงและไม่สามารถทำให้น้ำเป็นน้ำแข็งได้มากพอที่จะเปิดให้บริการได้ รวมถึงยังคงมีเศษใบไม้ที่ค่อย ๆ ร่วงลงมายังพื้นที่ลานสเก็ตอีกด้วย

ใบไม่ไม่ยอมเปลี่ยนสี

นอกจากนี้ ที่สวนอุเมะโคจิ ในเมืองเกียวโต ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในการดูใบไม้เปลี่ยนสีในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ก็ประสบกับปัญหาสภาพอากาศที่ยังคงอยู่ในระดับที่อบอุ่นกว่าปรกติเช่นกัน ทำให้ใบเมเปิลในส่วนยังคงเป็นสีเขียว

และที่ยิ่งกว่านั้น ต้นไม้หลายต้นได้ทยอยตายลงจากสภาพอากาศร้อนและฝนทิ้งช่วงในฤดูร้อนที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นไม้ไม่ได้รับน้ำฝนเพียงพอเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา ๆ แม้ว่า เจ้าหน้าที่ของสวนจะพยายามรดน้ำต้นไม้ในสวนก็ตาม แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอ

เช่นเดียวกับที่ถนนต้นแปะก๊วย ในเมจิจิงกูไกเอ็น และสวนโชวะ คิเนน ที่บรรดานักท่องเที่ยวต่างก็ผิดหวังไปตาม ๆ กัน เนื่องจากต้นแปะก๊วยที่มักเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง ก็ยังคงไม่เปลี่ยนสีเช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์ระบุผลกระทบจากโลกร้อน-เอลนีโญ

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สาเหตุที่ส่งผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีคลื่นความร้อนจากมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ฤดูร้อนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

การเกิดเอลนีโญ ส่งผลให้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งสภาพอากาศร้อน และพายุไต้ฝุ่นที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก

โดยในปี 2023 นี้ กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นมีสภาพอากาศร้อน โดยมีอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันนานกว่า 140 วัน นับเป็นสถิติที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกมา

ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นรายงานว่า มี 90 จุดทั่วประเทศที่อุณหภูมิสูงสุดทำลายสถิติเดิมที่เคยมีบันทึกมา โดยเฉพาะที่เกาะมิยางิจิมะในจังหวัดโอกินาวา วัดได้ 31.3 องศาฯ เมื่อวันที่ 6 พ.ย.

นอกจากสภาพอากาศที่ร้อนแล้ว ยังคงทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับสภาวะอากาศแปรปรวนที่คาดว่า จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง