นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ในปี 2566 นี้ จะเป็นปีที่โลกเผชิญกับคลื่นความร้อน น้ำท่วม และอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอุ่นขึ้นมากที่สุดในรอบ 125,000 ปี ซึ่งจากภาวะโลกเดือดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เดือนตุลาคมที่ผ่านมากลายเป็นเดือนตุลาคมที่อุ่นที่สุดของโลก ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 15.30 องศาเซลเซียล
สภาพอากาศที่อุ่นขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนโดยเฉพาะในยุโรปมีปริมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ยตามปรกติ และทำให้เกิดพายุพัดถล่มยุโรป ส่งผลให้มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายประเทศ
นอกจากนี้ นับเป็นเดือนที่ 6 ที่ระดับน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์
สูงขึ้น 0.4 องศาฯ
Copernicus Climate Change Service (C3S) ของสหภาพยุโรปกล่าวว่า สถิติของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นราว 0.4 องศาฯ ทำลายสถิติเดิม และเป็นอัตราที่สูงผิดปรกติของเดือนตุลาคมในปีอื่น ๆ และยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนตุลาคมในช่วงปี 1850 – 1900 ถึง 1.7 องศาเซลเซียส
ความร้อนที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์รวมกับการเกิดปรากฎการเอลนิโญขึ้นในปี 2023 ที่ทำให้อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้น
จากข้อมูลที่มีทำให้นักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมั่นใจว่า ปี 2023 นี้ จะเป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอบอุ่นที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกมา ซึ่งครั้งก่อนหน้านี้คือเมื่อปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่เกิดภาวะเอลนีโญ เช่นเดียวกัน
และหากย้อนกลับไปดูข้อมูลในรายงานของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ทำให้คาดว่า สภาพอากาศของโลกในปีนี้มีอยู่ภาวะอบอุ่นที่สุดในรอบ 125,000 ปี
ยุโรปร้อนทำลายสถิติ
ในเดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนและพายุฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งบางภูมิภาคนั้นมีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส แม้จะเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนแล้วก็ตาม นับเป็นครั้งแรกที่ช่วงเวลาในเดือนพฤศจิกายนจะยังคงมีอุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส
สหราชอาณาจักรมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติประมาณ 1 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนใต้ของอังกฤษมีอุณหภูมิที่อบอุ่นที่สุดที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1.7 องศาเซลเซียส แต่สำหรับพื้นที่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ มีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนตุลาคม ในช่วงปี 1991-2020 ถึง 4 องศาเซลเซียส
ในขณะที่อิตาลีเผชิญสภาพอากาศที่อุณหภูมิสูงกว่าปรกติถึง 3 องศาเซลเซียส และที่ผ่านมามีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ
ต.ค. ที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์
ทางการสิงคโปร์ได้ออกมารายงานสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ช่วงเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา กลายเป็นเดือนตุลาคมที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์
โดยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 36.3 องศาเซลเซียสในบริเวณ Admiralty ส่วนพื้นที่อื่น ๆ มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส ซึ่งนับเป็นระดับอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา
ในขณะที่ปริมาณน้ำฝนในเดือนตุลาคม 2566 นั้นก็มีความผิดปรกติ โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่เคยบันทึกไว้
โดยสถิติสูงที่สุดก่อนหน้านี้อยู่ที่ 35.7 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2001 และ 13 ต.ค. 2019
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญฤดูใบไม้ร่วงที่ร้อนที่สุดในรอบ 100 ปี
สํานักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ระบุว่า กระแสอากาศอุ่นยังคงพัดเข้ามายังประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนในหลายพื้นที่ โดยในวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นมีอุณหภูมิสูงสุดที่ 27.5 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นอุณหภูมิสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนในรอบ 100 ปี
กระแสอากาศอุ่นยังพาความชื้นเข้ามายังพื้นที่ด้านตะวันออกและทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ส่งผลให้หลายพื้นที่ยังคงเผชิญกับฝนตกหนักและลมกระโชกแรง
จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้เทศกาลใบไม้เปลี่ยนสีของโตเกียวที่มีชื่อเสียงต้องล่าช้ากว่ากำหนด และต้องรอให้สภาพอากาศเย็นกว่านี้
ข้อมูล –
- https://climate.copernicus.eu/climate-bulletins