วานนี้ (3 พ.ย.66) นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวจับตานโยบาย (Policy Watch) กรณีข้อเสนอยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) พร้อมข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เปิดทางให้ร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ได้รับการพิจารณาในสภา ว่า พรรคก้าวไกลขอยืนยันในข้อเสนอว่าด้วยการยุบ กอ.รมน. และความเห็นว่า กอ.รมน. ที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ เป็นองค์กรที่ล้าสมัยและไม่มีความเหมาะสมที่จะต้องมีต่อไป
ซึ่งการยกเลิก กอ.รมน. ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคง เพราะความมั่นคงในปัจจุบันมีความแตกต่างจากยุคสงครามเย็นมาก มีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่เรื่องของความมั่นคงทางอาหาร การเกษตร สุขภาพ อาชญากรข้ามชาติ ภัยยาเสพติด ฯลฯ ซึ่ง กอ.รมน. ไม่มีความเหมาะสมที่จะมาทำหน้าที่รับมือภัยความมั่นคงเหล่านั้น
โดยที่ผ่านมา กอ.รมน. ยังมีบทบาทในการสร้างความแตกแยกในสังคม ผ่านการสร้างภาพให้คนเห็นต่างทางการเมืองเป็นศัตรูของประเทศ มีการใช้งบประมาณไปในภารกิจเพื่อเป้าหมายในการจัดการผู้เห็นต่างเหล่านั้น ซึ่งผลที่ได้คือความแตกแยกของสังคม
ส่วนในแง่โครงสร้าง กอ.รมน. เป็นแนวคิดทหารนำการเมือง ผอ.รมน. แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้ที่เป็นรอง ผอ.รมน. ก็คือ ผบ.ทบ. เลขาธิการ กอ.รมน. ก็เป็น เสธ.ทบ. เฉพาะ 2 ตำแหน่งนี้ ถ้าไปดูหนังสือย้อนหลังก็จะเห็นว่ามีบทบาทในการลงนามหลายเรื่อง ที่มีลักษณะไปสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด นี่คือโครงสร้างที่ทำให้กองทัพสามารถแทรกซึมไปยังส่วนต่างๆ ของระบราชการ แล้วเอาวิธีคิดความมั่นคงแบบการทหารเป็นตัวนำ ไปสั่งการระบบราชการได้ทั้งหมด
ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะทำให้วิธีคิดด้านความมั่นคงจะถูกจำกัดอยู่แต่ในแบบของกองทัพเท่านั้น อีกทั้งบทบาทของ กอ.รมน. ยังมีปัญหาอีกหลายด้าน ทั้งด้านการทำงานมวลชนที่กลายมาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เช่น มวลชนที่ กอ.รมน. ทำงานด้วยจะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะทำให้วิธีคิดด้านความมั่นคงจะถูกจำกัดอยู่แต่ในแบบของกองทัพเท่านั้น อีกทั้งบทบาทของ กอ.รมน. ยังมีปัญหาอีกหลายด้าน ทั้งด้านการทำงานมวลชนที่กลายมาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เช่น มวลชนที่ กอ.รมน. ทำงานด้วยจะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติ