ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้มีการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เป็นการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกของสำนักงานประกันสังคม เพื่อคัดสรรค์ตัวแทนในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ
ความสำคัญ/หน้าที่บอร์ดประกันสังคม
โดยคณะกรรมการประกันสังคมมีหน้าที่ในการบริหารจัดการและกำกับดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน พร้อมกำหนดแนวทางเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ การบริหารเงินกองทุนรวมทั้งจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
อีกทั้งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะนำคณะกรรมการ/สำนักงานประกันสังคม และปฏิบัติการอื่น ๆ ใด ตามกฎหมาย หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมอบหมาย ซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน นั้น มาจากผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 และนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม
ทำไมต้องเลือก?
การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการเงินกองทุนประกันสังคม ที่ผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐร่วมกันสมทบจ่ายมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท หากไม่ได้บอร์ดที่เป็นตัวแทนเจตจำนงของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง จะมั่นใจได้อย่างไรว่ากองทุนจะมีความมั่นคง เป็นที่พึ่งให้คนไทยกว่า 12 ล้านคนได้
หลังการรัฐประหารปี 2557 กองทุนประกันสังคมอยู่ภายใต้การดูแลของ คสช. เนื่องจากได้มีการใช้มาตรา 44 สั่งว่าให้ “งดการบังคับใช้” บางมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ทาง สนช. ได้มีการแก้ไขไว้เมื่อปี 2558 และได้แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมทุกตำแหน่งเอง
การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในครั้งนี้ จึงถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก และต้องใช้ระยะเวลากว่า 8 ปี ถึงจะมีการเลือกตั้งได้นับตั้งแต่การเข้ามาของ คสช. เมื่อปี 2557
คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
คุณสมบัติ
- 1.ต้องเป็นนายจ้าง หรือ ผู้ประกันตน ในขณะที่ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง
- 2.ส่งเงินสมทบติดต่อไม่น้อยกว่า 36 เดือน นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
- 3.ได้ลงทะเบียนผ่านช่องทาง www.sso.go.th เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว
- 4.มีสัญาติไทย
- 5.มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง
ลักษณะต้องห้าม
- 1.ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือ จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- 2.ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือ คนเสมือนไร้ความสามารถ
- 3.ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือ เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- 4.ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือ ความผิดลหุโทษ
- 5.ไม่เคยต้องคำพิพากษา หรือ คำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
- 6.ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือ เลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐ หรือ สถานประกอบการของเอกชนเพราะทุจรติต่อหน้าที่
- 7.ไม่เป็นคู่สัญญา หรือ มีประโยชน์ได้เสียในกิจการที่เป็นคู่สัญญา หรือ มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงานไม่ว่าโดยทางตรง หรือ ทางอ้อม
- 8.ไม่เป็น หรือ เคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น หรือ กรรมการ หรือ ที่ปรึกษาของพรรคการเมือง หรือ เจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไม่น้อยกว่า 3 ปี
การลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง
สำนักงานประกันสังคมได้เปิดโอกาสให้นายจ้างและผู้ประกันตนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในวันที่ 12 – 31 ตุลาคม 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ www.sso.go.th หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ
ซึ่งล่าสุดทางสำนักงานประกันสังคมได้ขยายเวลาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง ไปจนถึงวันที่ 10 พ.ย. 2566
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ผู้ประกันตน
- 1.สัญชาติไทย
- 2.มีสถานะเป็นผู้ประกันตนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มีนาคม-สิงหาคม 2566)
- 3.จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือน ก่อนเดือนประกาศเลือกตั้ง)
- 4.ลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านช่องทาง www.sso.go.th เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด
นายจ้าง
- 1.สัญชาติไทย
- 2.มีสถานะเป็นนายจ้างติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มีนาคม-สิงหาคม 2566)
- 3.จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือน ก่อนเดือนประกาศเลือกตั้ง)
- 4.ลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านช่องทาง www.sso.go.th เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด
…
การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม จะเปิดให้ลงคะแนนในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เวลา 8.00-16.00 น. โดยผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือใบขับขี่ ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ หรือ นำบัตรอื่นที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือบัตรที่หมดอายุแล้ว ก็สามารถนำไปใช้แสดงตนได้ แต่สำหรับฝ่ายนายจ้างต้องมีหนังสือการจดทะเบียนนิติบุคคลที่มีการรับรองไม่เกินหกเดือนมาแสดงด้วย
ข้อมูล :
- สำนักงานประกันสังคม
- ILaw
- พรรคก้าวไกล