ความคืบหน้าสำหรับนโยบายการยกระดับด้านสาธารณสุข ตามที่รัฐบาลเศรษฐาได้เตรียมแผนและพร้อมเดินหน้าไว้ คือ “30 บาทพลัส บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ล่าสุดทางกระทรวงได้ประกาศ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส
ซึ่งการนำร่องใน 4 จังหวัด ไม่ได้หมายความว่า เฉพาะประชาชนในจังหวัดนั้นเท่านั้นที่จะใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ได้ แต่ประชาชนที่เดินทางไปยัง 4 จังหวัดนำร่องดังกล่าวก็สามารถรับบริการได้เช่นกัน
โดย สปสช. จะสนับสนุนงบประมาณและจ่ายชดเชยให้หน่วยบริการได้เร็วขึ้น ซึ่งจะได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวล่วงหน้า กรณีผู้ป่วยนอกจะจ่ายชดเชยใน 3 วัน และผู้ป่วยในจ่ายชดเชยทุก 7-14 วัน รวมถึงจะมีการเพิ่มคู่สาย สายด่วน 1330 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยนัดหมายบริการ ยืนยันตัวตน การไปรับยาใกล้บ้าน เป็นต้น โดยเพิ่มอาสาสมัคร เช่น พยาบาลเกษียณ หรือคนพิการ เข้าร่วมบริการประชาชน
ในพื้นที่กรุงเทพฯ
สำหรับการเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต 50 โรงพยาบาล จะนำร่องโรงพยาบาลประจำเขตดอนเมืองระยะที่ 1 โดยยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิขนาด 120 เตียง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทางร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย และเตรียมพร้อมโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วย คาดว่าจะเปิดให้บริการทั้ง 3 ส่วนได้ภายในเดือนธันวาคม 2566
ขณะที่เรื่องสุขภาพจิตและยาเสพติด ยึดหลักการ “เพื่อนแท้มีทุกที่” ให้ประชาชนเข้าถึงบริการคุณภาพตั้งแต่ระยะแรก และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้ โดยจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ทุกจังหวัดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ตามหลักการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย
ซึ่งปัจจุบันมีมินิธัญญารักษ์แล้ว 35 จังหวัด 64 โรงพยาบาล มีกลุ่มงานจิตเวชทุกอำเภอ และมีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด นอกจากนี้ จะส่งเสริมสุขภาพจิตเชิงรุกในชุมชน ค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชน บริการฉุกเฉินจิตเวช เพิ่มการเข้าถึงบริการจิตเวชทางไกล และการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะยาวในชุมชน/สังคม
การยกระดับบัตร 30 บาท
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในโรงพยาบาลทุกระดับ ทั้งรัฐและเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนให้ได้รับบริการที่สะดวกมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการให้บริการ
ซึ่งหากประชาชนบางส่วนไม่ถนัดที่จะใช้สมาร์ทโฟนก็สามารถใช้บัตรประชาชนในการรับบริการ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกัน
สำหรับการพัฒนาระบบจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน
- 1. การพัฒนาระบบบันทึกข้อมูลของโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นจุดส่งต่อข้อมูลของผู้มารับบริการ
- 2. การพัฒนาระบบยืนยันตัวตน การตรวจสอบสิทธิการรักษา การยืนยันเข้ารับบริการ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของแพทย์ และบุคลากรอื่น ๆ
- 3. การพัฒนาระบบการทำงาน เช่น ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ ใบรับรองแพทย์ ใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ การนัดหมาย ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
- 4. การพัฒนาระบบส่วนที่เชื่อมต่อกับประชาชนทางแอปพลิเคชันไลน์ และของ สธ. เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อกับประชาชนทั่วประเทศ