คัดลอก URL แล้ว
“รสนา” ยื่น สตง. สอบ “ดิจิทัลวอลเล็ต” หวั่นซ้ำรอย “จำนำข้าว”

“รสนา” ยื่น สตง. สอบ “ดิจิทัลวอลเล็ต” หวั่นซ้ำรอย “จำนำข้าว”

วันนี้ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. ที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร เข้าพบ นางสาวน้อมจิตร์ สังข์ด่าน ที่ปรึกษาการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อยื่นหนังสือ ขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามนัย มาตรา 8 ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ปีพุทธซศักราช 2561 กรณีรัฐบาลเตรียมแจกเงินเงินดิจิทัล 10,000 บาท หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของนายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

นางสาวรสนา กล่าวว่า โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาลมีปัญหามิชอบด้วยกฎหมาย และอาจเกิดความเสียหายขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ อละกังวลว่าจะซ้ำรอยกรณีโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นลักษณะสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติ และผิดต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศ

โดยนางสาวรสนา ให้เหตุผลประกอบการยื่นหนังสือไว้ 6 ประการ คือ

  1. ผลได้ไม่คุ้มเสีย คือ เศรษฐกิจไทยกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวตามศักยภาพอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
  2. ขัดต่อพระราชบัญญัติเงินตรา (โดยให้ สตง. ตรวจสอบ ตามที่พรรคเพื่อไทยระบุว่า “กระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ไม่ใช่คริปโทเคอเรนซี่ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain ถือเป็นการใช้สกุลเงินใหม่หรือไม่
  3. เพิ่มความสิ้นเปลืองแก่ประเทศโดยไม่จำเป็น (โดยให้เหตุผลว่า การพัฒนาบล็อกเชนใหม่ รัฐบาลไม่มีความชัดเจนในการพัฒนาระบบใหม่ เพราะมีผู้ให้บริการดิจิทัลวอลเล็ตและโมบายแบงกิ้ง หลายแอปฯ อยู่แล้ว เช่น เป๋าตัง ทรูมันนี เคพลัส เอสซีบี อีซี เป็นต้น ซึ่งจะสามารถรองรับได้ ไม่จำเป็นต้องวร้างระบบใหม่)
  4. หลีกเลี่ยงหลักการใช้เงินแผ่นดิน (โดยรัฐบาลต้องเสนอในกระบวนการงบประมาณต่อรัฐสภาให้พิจารณาก่อน และอาจจะเข้าข่ายใช้เงินงบประมาณซ้ำซ้อนปีงบประมาณเดิม เนื่องจากงบประมาณใหม่จะไม่ทันการใช้งานดิจิทัลวอลเล็ตเดือนเมษายน ตามที่รัฐบาลแระกาศ หากไม่มีการเสนอโครงการนี้ในกระบวนการงบประมาณต่อรัฐสภา จะเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
  5. ซุกหนี้สาธารณะ (โดยคาดว่ารัฐบาลจะใช้วิธีให้ธนาคารออมสินกู้หนี้ไปก่อน แล้วรัฐบาลจึงค่อยจัดเงินจากงบประมาณชดใช้ในภายหลัง จึงมองว่า การกระทำลักษณะนี้ผิดวัตถุประสงค์ของธนาคาร
  6. ขัดกับ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 9 วรรค 3 จึงขอให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบเป็นการเร่งด่วน เพื่อระงับหรือยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561

ภายหลังการยื่นหนังสือ นางรสนา เปิดเผยว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้ ถือเป็นการทำหน้าที่ของพลเมืองคนหนึ่งในการปรามเหตุ ก่อนจะเกิดความเสียหายกับประเทศ ยืนยันว่าไม่ได้มีเป้าหมายจ้องดิสเครดิตรัฐบาล แต่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สตง. กกต. และ ปปช. ใช้อำนาจและกฎหมายตรวจสอบให้รอบคอบ

ทั้งนี้ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จะรับข้อเสนอไว้แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่ผ่าน มติ ครม. และยังไม่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีการเบิกจ่ายเงินแผ่นดิน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง