วันที่ 2 ตุลาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ร่วมประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อสรุปสถานการณ์น้ำท่วมและแนวทางการแก้ปัญหา โดยมี นายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงทรวงคมนาคม เข้าร่วม ที่จังหวัดสุโขทัย
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนได้เน้นย้ำในที่ประชุมให้เฝ้าระวังพื้นที่ในจังหวัดสุโขทัยเป็นพิเศษ เพราะในพื้นที่ ตำบลปากแคว อำเภอเมือง ได้เกิดดินสไลด์ ส่งผลให้น้ำทะลักเข้ามาแล้ว ซึ่งต้องช่วยกันติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยผู้ว่าฯสุโขทัย ก็คงหลับไม่ได้ ต้องเฝ้าสถานการณ์ตลอดเวลา เพราะหากดินสไลด์เพิ่ม จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่วนหลังสถานการณ์คลี่คลาย ก็ต้องมีการเร่งสร้างเขื่อนกันดินสไลด์ในจุดนี้เพิ่ม นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า แม่น้ำยม เป็นแม่น้ำสายเดียว ที่ไม่มีเขื่อนรองรับ จึงทำให้น้ำเกิดน้ำท่วม เพราะมวลน้ำที่ไหลมา มีจำนวนมากถึง 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขัง
“ผมไม่กล้าหวังที่จะให้มีการสร้างเขื่อน แม้ว่า พี่น้องประชาชน จะบอกว่า มีแนวโน้มที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเข้าใจ แต่หลายครั้งที่เราพูดคุยเรื่องเขื่อน ก็จะมีปัญหา ผมจึงไม่อยากพูด แต่เปลี่ยนไปพยายามแก้ปัญหาในวิธีอื่นแทน อย่าง ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย และภาคเหนือตอนบน จังหวัดแพร่ เราก็พยายามแก้ปัญหาในพื้นที่ ที่ไม่กระทบกับต้นน้ำแม่น้ำยมก่อน เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
เพราะหากย้อนไปดูเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 สร้างความเสียหายถึง 1.42 ล้านล้านบาท เป็นความเสียหายจากทรัพย์สินทางราชการ และของพี่น้องประชาชน รวมถึงเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ ซึ่งในตอนนั้น น้ำมีความสูงถึง 13 เมตร โดยจะเห็นได้ว่า เหตุน้ำท่วมได้สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก”
รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ ประชาชนเริ่มเรียกร้องให้ช่วยเหลือแบบยั่งยืน เพราะจังหวัดสุโขทัย เกิดเหตุน้ำท่วมทุกปี โดยเป็นเรื่องความไม่ปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมา เราพยายามแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเต็มที่ โดยฝั่งขวาแม่น้ำยม ขณะนี้ ก็ได้มีการดำเนินการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวแล้ว
ซึ่งหลังจากนี้ ตนจะนำเรียนท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้รับทราบและพิจารณาถึงแนวทางการแก้ปัญหานี้ เพราะจะสามารถช่วยการระบายน้ำได้เป็นอย่างดี และนอกจากช่วยน้ำท่วมแล้ว เวลาน้ำแล้ง เรายังสามารถปิดประตู เก็บน้ำไว้ใช้ได้อีก เพราะในอีก 3 ปี มีการคาดการณ์ว่า จะเกิดภัยแล้งจากเอลนีโญ ดังนั้น ถ้าเราวางแผนแก้ปัญหาแบบเป็นระบบ ก็จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ทั้งหมด
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดสุโขทัยตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ พบว่า มีพื้นที่ 9 อำเภอได้รับผลกระทบแล้ว และมีประชาชน ได้รับผลกระทบเพิ่มเป็น 2,007 ครัวเรือน เป็นพื้นที่กว่า 62,483 ไร่ นอกจากนี้ ยังพบว่า ที่น่าเป็นห่วงเพิ่มเติมคือ ตำบลปากแคว ตำบลยางซ้าย อำเภอเมือง เกิดคันดินคอสะพานขาด พื้นที่อำเภอศรีสำโรง พนังกั้นน้ำบริเวณสะพานสิริปัญญารัตน์ เกิดแยกตัว และพื้นที่อำเภอสวรรคโลก น้ำเอ่อล้นตลิ่งคันคลอง และบริเวณคอสะพานหลายจุด ตนจึงฝากเตือนพี่น้องประชาชน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ ยังได้ลงพื้นที่จุดเสี่ยงเพิ่มเติม คือ บริเวณหน้าจวนผู้ว่าฯสุโขทัย โดยได้ขึ้นหลังรถกระบะ ถือตลับเมตรปีนขึ้นไปวัดระดับน้ำ พบว่า ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น จากที่พนังกั้นน้ำสามารถรองรับได้ 2.80 เมตร ความหนาของพนังตัวนี้อยู่ที่ 15 เซนติเมตร
แต่น้ำขณะนี้ อยู่ที่ระดับ 2.40 เมตรแล้ว มวลน้ำก้อนใหม่ที่มาจากอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ก็กำลังจะไหลมาที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งหากพนังกั้นน้ำได้รับความเสียหายแตกร้าว ก็จะส่งผลให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมตัวเมือง ที่เป็นแหล่งชุมชน และตลาด รวมถึงเรือนจำสุโขทัยด้วย โดยจุดนี้ นายสมศักดิ์ มีความเป็นห่วงอย่างมาก จึงได้กำชับสั่งผู้ว่าฯสุโขทัย ให้ดูแลใกล้ชิด เพราะไม่อยากให้น้ำทะลักเข้าพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัด