คัดลอก URL แล้ว
“ธรรมนัส” นำเผาทำลายหมูเถื่อน! ลักลอบน้ำเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต

“ธรรมนัส” นำเผาทำลายหมูเถื่อน! ลักลอบน้ำเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต

วันนี้ (29 กันยายน 2566) ที่ ศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ด้วยเอกซ์เรย์ สํานักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยฯ ร่วมเป็นประธานพิธีส่งมอบ-รับมอบ และนําตู้สินค้าประเภทซากสุกรของตกค้างและของกลางในคดี พิเศษที่ 59/2566 จํานวน 161 ตู้ ก่อนนำไปเผาทำลาย

ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ได้มาร่วมพิธีสำคัญสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและความสำเร็จ ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ ที่มุ่งมั่นในการปฎิบัติหน้าที่ร่วมกันบังคับใช้กฎหมายสืบสวนตรวจสอบในการจับกุมและสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด

การนำเข้าหมูเถื่อน นับว่าส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในไทย จะถูกทำลายกลไกราคาสุกรในประเทศ การตรวจจับนี้ จะเป็นการลดความเสี่ยงต่าง ๆ ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคและสารตกค้างที่อาจติดมาในสุกรที่ผิดกฎหมาย

ร้อยอกธรรมนัส ยังเผยว่าเนื้อหมูเถื่อนเหล่านี้ ส่วนมากนำเข้าจากประเทศฝั่งยุโรป เช่น ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหมูราคาถูกที่เขาไม่ใช้แล้ว และเมื่อนำเข้าไทยมาขายในราคาถูก คนไทยส่วนมากก็จะเลือกซื้อ อาจจะมีเชื้อโรคปะปนมาได้ โดยขณะนี้กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าหมูที่ตรวจยึดได้นี้มีเชื้อโรคปะปนมาด้วยหรือไม่ ควบคู่กับการฝังกลบและเผาทำลาย

โดยคาดว่าจะทำลายให้แล้วเสร็จครบ 161 ตู้ ภายในวันที่ 15 ตุลาคม และวันนี้หมูเถื่อนทั้งหมด ถูกถอดปลั๊กแช่แข็งออกทั้งหมด และดำเนินการเอาผิดอาญากับผู้นำเข้า และผู้ที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งวันนี้ นอกจากร่วมพิธีส่งมอบแล้ว ร้อยเอกธรรนัส พร้อมรัฐมนตรีช่วยฯ ยังเดินทางต่อไปที่สำนักงานชลประทานที่ 9 ต.บางพระ อ.ศรีราชา เพื่อร่วมเผาทำลายซากสุกร ถือเป็นการ Kick off ตัดซีลและเผาทําลายซากของกลาง นำร่องจํานวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยใช้เครื่องกําจัดซากสัตว์ติดเชื้อเพื่อควบคุมโรคชนิดเคลื่อนที่

ด้านอธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีการตรวจยึดซากสัตว์ดังกล่าวมาจากประเทศที่ไม่ผ่านการตรวจรับรองแหล่งผลิตซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์ หรือมาจาก ประเทศที่กรมปศุสัตว์มีประกาศชะลอการนําเข้าซากสุกรเนื่องจากประเทศต้นทางมีการระบาดของโรคระบาดสัตว์ และบางส่วนไม่ทราบแหล่งที่มาที่ชัดเจน ประกอบกับไม่พบเอกสารใด ๆ ที่รับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ (Health Certificate) จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ผ่านการตรวจจากสัตวแพทย์ประจําท้องที่ต้นทางหรือ พนักงานตรวจโรคสัตว์

ซึ่งถือว่าซากสัตว์ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรค ระบาดสัตว์ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ อันจะก่อให้เกิดความ เสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได

โดยประสิทธิภาพของเครื่องกําจัดซากสัตว์ติดเชื้อเพื่อควบคุมโรคระบาดเคลื่อนที่ เป็นเตาเผาชนิด 2 ห้องสามารถเผาได้ชั่วโมงละ 1-2 ตัน ขึ้นกับสภาพของซากสัตว์ ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพของซากสัตว์ที่ทําการเผา และเตาสามารถทํา ความร้อนได้ในขณะเผา 700 – 1000 องศาเซลเซียส ใช้น้ํามันดีเซลเป็นแหล่งพลังงาน ชั่วโมงละไม่เกินชั่วโมงละ 60 ลิตร และระบบเผาทําลายซากจะเป็นระบบปิด โดยในส่วนที่เหลือ จะนําไปทําลายในลักษณะฝังกลบที่ จ.สระแก้ว จนครบ 161 ตู้ ตามมาตรฐานต่อไป

ส่วนในการดำเนินคดีอาญา กรมศุลกากร เผยว่า ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขอให้สืบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ต่อมา DSI รับกรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร


ภาพ – วิชาญ โพธิ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง