คัดลอก URL แล้ว
โพลชี้ คนไทยสุดกังวลภัยไซเบอร์ระบาด เหตุปชช ร้อยละ 76 เคยถูกหลอกในโลกออนไลน์ “นพดล” ห่วงไทยไร้มาตรฐานกลางเชื่อมความร่วมมือรัฐและเอกชน

โพลชี้ คนไทยสุดกังวลภัยไซเบอร์ระบาด เหตุปชช ร้อยละ 76 เคยถูกหลอกในโลกออนไลน์ “นพดล” ห่วงไทยไร้มาตรฐานกลางเชื่อมความร่วมมือรัฐและเอกชน

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.สำนักวิจัยสยามเทคโน โพล (Siam Techno Poll) วิทยาลัย เทคโนโลยีสยาม เสนอผลสำรวจ เรื่อง “ความกังวลต่อโลกไซเบอร์”กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,021 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 – 23 กันยายน พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา พบประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึง ประสบการณ์ของประชาชนถูกหลอกลวงในโลกไซเบอร์ โลกออนไลน์ จากการใช้ โซเชียล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.0 เคยถูกหลอกลวง ในขณะที่ร้อยละ 24.0 ไม่เคย นอกจากนี้ เมื่อถามถึงระดับความกังวลในภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อความมั่นคงชาติและความปลอดภัยของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.0 กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 35.1 กังวลปานกลาง และร้อยละ 8.9 กังวลค่อนข้างน้อย ถึง ไม่กังวลเลย ยิ่งไปกว่านั้น เกือบครึ่งหรือร้อยละ 49.7 กังวลค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ต่อ ความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 39.5 กังวลปานกลาง และร้อยละ 10.8 กังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

ที่น่าพิจารณาคือ ความพอใจของประชาชนต่อนโยบายรัฐบาลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ต่อความมั่นคงชาติ ระบบเศรษฐกิจของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.5 ระบุยังต้องปรับปรุงแก้ไข และร้อยละ 20.3 ระบุต้องแก้ไขเร่งด่วน ในขณะที่เพียงร้อยละ 12.2 พอใจมากถึงมากที่สุด

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ในฐานะศิษย์เก่า มหาวิทยาลัย จอร์ชทาวน์ วอชิงตัน ดีซี ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวว่า ในเวลานี้ประชาชนคนไทยกว่า 60 ล้านคนมีข้อมูลอยู่บนโลกไซเบอร์และมีการใช้โทรศัพท์มือถือกว่าร้อยล้านเลขหมาย จึงกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดในการถูกโจมตีทางไซเบอร์ได้ และจากข้อมูลวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า ประชาชนมีความวางใจต่อความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่รัฐในความปลอดภัยทางไซเบอร์ยังไม่มากเพียงพอ

“ที่น่าเป็นห่วงคือ ยังไม่พบว่า ประเทศไทยมีมาตรฐานกลางที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนไทยในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีต่อ ความมั่นคงชาติ ระบบเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประชาชน และยังไม่พบกฎหมายที่ครอบคลุมทุกมิติในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ตั้งแต่ต้นน้ำคือ การเฝ้าระวัง การเกาะติดอุบัติการณ์ การตอบสนองต่ออุบัติการณ์ และการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอันจะช่วยรักษาความมั่นคงชาติ ระบบเศรษฐกิจของประเทศและความปลอดภัยของประชาชนได้ดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ กล่าว.