คัดลอก URL แล้ว
ปชช. ติง จ่ายเงินเดือน ขรก.สองรอบ หมุนไม่ทันยิ่งกว่าเดิม

ปชช. ติง จ่ายเงินเดือน ขรก.สองรอบ หมุนไม่ทันยิ่งกว่าเดิม

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ของรัฐบาลเศรษฐา โดยในช่วงการแถลงข่าวหลังการประชุม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึง มติ ครม. เห็นชอบให้มีการปรับระบบการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จากเดือนละหนึ่งรอบ เป็นเดือนละสองรอบ

โดยบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งต้องมีการแก้ไขระบบหลายอย่าง เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อย และจะได้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินโดยไม่ต้องคอยจนถึงสิ้นเดือน

ทั้งนี้ในโลกออนไลน์ได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่มองว่าการปรับระบบจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 งวด นั้น ไม่ได้ช่วยแก้สภาพคล่องของข้าราชการชั้นผู้น้อยแต่อย่างใด แต่ยิ่งทำให้หมุนเงินไม่ทัน

เนื่องจากข้าราชการแต่ละคนมีภาระค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป ทั้งค่าบ้าน ค่าเช่าบ้าน ค่างวดรถ ค่างวดจากการกู้สหกรณ์ และอื่น ๆ ที่ส่วนมากแล้วจะมาในช่วงต้นเดือน

นอกจากนี้บางคอมเมนต์ที่ระบุว่าเป็นข้าราชการ แสดงความคิดเห็นว่าควรใช้ระบบการจ่ายเงินเป็นรอบเดียวดีกว่า แต่ควรไปปรับแก้การจ่ายเงินที่ตรงวัน ไม่ตกเบิก ไม่ต้องมานั่งลุ้นว่าเดือนนี้เงินเดือนจะเข้าตรงวันหรือไม่ และบางส่วนมองว่าควรพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการชั้นผู้น้อย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพในยุคปัจจุบันมากกว่า

[ตัวอย่าง] ปรับจ่ายเงินเดือน ขรก. เป็น 2 งวด

นาย A ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท แบ่งเป็น 2 งวดเท่ากับงวดละ 7,500 บาท กรณีจ่ายเงิน 2 รอบ คือทุกวันที่ 1 และ วันที่ 16 ของเดือน ซึ่งค่าใช้จ่าย ๆ มักจะมาในช่วงต้นสัปดาห์แรกของเดือนทั้งสิ้น

กรณีนาย A ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละ 3,000 บาท ยังไม่รวมค่างวดรถ ค่างวดสินเชื่อต่าง ๆ จะเหลือเงินใช้ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือบางรายแค่ค่าใช้จ่ายต้นเดือนก็อาจจะหมดเงินตั้งแต่งวดแรกแล้วก็ได้เช่นกัน

ซึ่งจะกลายเป็นว่าระหว่างการรอไปจนถึงการรับเงินเดือนงวดที่ 2 นั้น อาจทำให้ขาดสภาพคล่องได้ ซึ่งหากคำนวณแค่เฉพาะค่าอาหาร เฉลี่ยขั้นต่ำวันละ 150 บาท (3 มื้อ) คูณ 15 วัน จะต้องมีเงินสำรองไว้ใช้ค่ากินอีกกว่า 2,250 บาท ต่อเงินเดือน 1 งวด ในส่วนของงวดที่ 2 ของเดือน หากไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมก็สามารถออมเงินเพื่อเก็บ หรือ นำไปใช้ในเดือนถัดไปได้

ทั้งนี้หากเป็นอย่างในกรณีที่ยกตัวอย่างไปนั้น จะเห็นได้ว่าช่วงต้นเดือนจะเป็นช่วงที่มีค่าใช้จ่ายมากที่สุด หากไม่มีเงินสำรองก็อาจยิ่งทำให้สภาพคล่องของเดือนนั้น ๆ ย่ำแย่ไปกว่าเดิม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เพื่อการนำเสนอเนื้อหาที่ดี รวมถึงการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากคุณใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆนั้น แสดงว่าคุณยอมรับนโยบายคุกกี้และนโยบายส่วนบุคคลของเรา