จากกรณีคุณครูประมาณ 200,000 คนในเกาหลีใต้เดินออกไปและรวมตัวกันในกรุงโซลเมื่อวันจันทร์ที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิของพวกเขาให้ดีขึ้น และประท้วงต่อต้านการคุกคามจากผู้ปกครองของเด็กนักเรียน โดยการประท้วงเกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของครูโรงเรียนประถมศึกษารายหนึ่งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งถูกพบเสียชีวิตที่โรงเรียนของเธอในกรุงโซล ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีสาเหตุมาจากการฆ่าตัวตาย
วัฒนธรรมครูในเกาหลีได้รับการยกย่อง การลงโทษเด็กอย่างรุนแรง จนเมื่อปี 2553 มีกฎเกณฑ์ใหม่เกิดขึ้น โดยห้ามครูลงโทษนักเรียน หากนักเรียนกระทำความผิดจะให้คุณครูลงบันทึกไว้ในระเบียนแทน ซึ่งมีข้อกำหนดว่าจะลบภายใน 2 ปี แต่ต่อมามีการปรับว่าบันทึกนี้จะไม่ถูกลบ มากไปกว่านั้น บันทึกฉบับนี้สามารถนำไปใช้ยื่นในการเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ ท่ามกลางการแข่งขันของเหล่านักเรียน นำไปสู่การกระตุ้นความกดดันของผู้ปกครองที่ไม่อยากให้ลูกมีความผิดจนนำไปสู่การกดดันครู จนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ครูฆ่าตัวตายเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศเกาหลีใต้
โดยข้อมูลจากหน่วยงานรัฐระบุว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนมิถุนายน 2023 มีครูในโรงเรียนเอกชนของเกาหลีใต้จำนวนราว 100 รายที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยในจำนวนนั้น มี 57 รายที่สอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ยังมีครูจำนวนมากที่ร่วมประท้วงด้วยการลางานในวันจันทร์ ทำให้โรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอน และผู้จัดการประท้วงยังระบุว่า ยังมีครูอีกราว 60,000-70,000 คนออกมาประท้วงในที่อื่น ๆ ด้วย
ขณะที่ด้านทำเนียบประธานาธิบดีระบุว่า ยูน ซุก ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทางการรับฟังข้อเรียกร้องจากครู และดำเนินงานเพื่อให้สิทธิของครูได้รับการคุ้มครองแล้ว
เปิดบทลงโทษนักเรียนของเกาหลีใต้ กับ ไทย
สำหรับประเภทการลงโทษ ในกรณีการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของเกาหลี มีการจัดแบ่งเป็น 9 ดังนี้
ระดับ 1 เป็นการลงโทษสถานเบา เช่น เขียนคำขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษร
ระดับ 2 ทำการปกป้องผู้เสียหาย
ระดับ 3 ลงโทษด้วยการให้ทำงานในโรงเรียน
ระดับ 4 ลงโทษด้วยการทำงานบริการสังคม
ระดับ 5 เข้าเรียนในสถานศึกษาพิเศษและเข้ารับการบำบัดทางจิต
ระดับ 6 ถูกพักการเรียนชั่วคราว
ระดับ 7 มีการจำกัดการทำกิจกรรม
ระดับ 8 ถูกย้ายโรงเรียน
ระดับ 9 ออกจากโรงเรียน
ขณะที่ทางฝั่งของประเทศไทย ข้อมูลจาก ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน และนักศึกษา พ.ศ. 2548 ระบุว่า บทลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทําความผิด มี 4 สถาน คือ
1.ว่ากล่าวตักเตือน
2.ทําทัณฑ์บน
3.ตัดคะแนนความประพฤติ
4.ทํากิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ทั้งนี้ ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุและความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย ซึ่งการลงโทษให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัย และความประพฤติไม่ดี ให้รู้สำนึกในความผิด และกลับมาประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป