วันนี้ (1 กันยายน 2566) พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ นายอัษฎาวุธ ศรีปิตา ผู้ช่วยโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ และร้อยตำรวจเอก ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ แถลงข่าวความคืบหน้าในการดำเนินคดีพิเศษที่ 236/2565 กรณี ขบวนการลักลอบจัดหาหญิงไทยเพื่อรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ให้กับผู้ว่าจ้างชาวต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในจังหวัดหนองคาย กรณี เด็กชายแทนไท (นามสมมุติ) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 เวลา 06.30 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ ภายใต้การอำนวยการของ ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอก ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ นางสาวอรุณศรี วิชชาวุธ ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ และนางสาวกนกลดา เจริญศิริ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ นำคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 236/2565 สนธิกำลังร่วมกับ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติการตรวจค้นสถานพยาบาล 3 แห่ง ตามหมายค้นศาลอาญาที่ 995-997/2566 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ดังนี้
จุดที่ 1
- สถานพยาบาลย่านถนนงามวงศ์วาน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีนายแพทย์ผู้ให้บริการเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ และเป็นแพทย์ประจำศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากในสถานพยาบาลดังกล่าว โดยได้ทำการตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์และรับฝากครรภ์และเป็นสถานที่คลอดบุตรแก่หญิงอุ้มบุญผิดกฎหมาย ในช่วงระหว่างปี 2561 – 2563 ผลการตรวจค้นพบประวัติ หญิงอุ้มบุญผิดกฎหมายจำนวนหลายราย
จุดที่ 2
- สถานพยาบาลย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ จากการสืบสวนสอบสวนพบว่าสถานพยาบาลแห่งนี้มีแพทย์ผู้ให้บริการเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้เข้าไปทำงาน Part time ในสถานพยาบาลดังกล่าว ผลการตรวจค้นพบเอกสารข้อมูลไข่และตัวอ่อนในการดูแลของแพทย์ผู้ให้บริการในคดี
จุดที่ 3
- สถานพยาบาลย่านถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบความเชื่อมโยงกับนายแพทย์ที่เกี่ยวข้องในคดี และมีหญิงอุ้มบุญมาตรวจร่างกายก่อนมีการไปฉีดตัวอ่อนที่ต่างประเทศ ผลการตรวจค้นพบหนังสือเดินทางของหญิงอุ้มบุญและเด็กที่ถูกอุ้มบุญและยังไม่ได้รับอนุญาตรับรองมาตรฐานให้บริการด้านเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม 2566 เวลา 06.00 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ ภายใต้การอำนวยการของ ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอก ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษภูธรจังหวัดหนองคาย (นปพ.ภ.จว.หนองคาย) ได้จับกุม นายสุเนตร จอมศรี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 2643/2566 ในข้อหามีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและร่วมกันดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์
ทางการค้า และได้ทำการตรวจค้นบ้านพักของนายสุเนตรฯ ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย โดยอาศัยอำนาจตามหมายค้นศาลจังหวัดหนองคาย ที่ ค.106/2566 พบบัญชีรายชื่อหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมายและบัญชีรายได้จากการเป็นนายหน้าจัดหาหญิงมาทำหน้าที่อุ้มบุญ ซึ่งนายสุเนตรฯ เป็นหนึ่งในขบวนการจ้างอุ้มบุญข้ามชาติที่มีหน้าที่จัดหาหญิงชาวไทยมารับจ้างอุ้มบุญให้ชาวต่างชาติ จนมีทรัพย์สินเป็นที่ดินกว่า 100 ไร่
ทั้งนี้ การอุ้มบุญสามารถทำได้หากได้รับการอนุญาตตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งมีเงื่อนไขเพื่อคนที่มีบุตรยากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 แต่ห้ามไม่ให้ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า หากฝ่าฝืน ทั้งตัวคนสั่งจ้าง นายหน้า นายแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ หญิงอุ้มบุญและผู้เกี่ยวข้องในขบวนการ ย่อมมีความผิดทางอาญาและต้องรับผิดตามกฎหมาย
ปัญหาการอุ้มบุญผิดกฎหมายก่อให้เกิดปัญหาสังคมหลายอย่างตามมา ทั้งการเป็นตลาดการค้ามนุษย์ ซึ่งปลายทางของเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ อาจถูกนำไปค้าอวัยวะ ค้าประเวณี หรืออุตสาหกรรมทางเพศ ในหลายกรณีที่เด็กเกิดมามีความบกพร่องทางร่างกาย ก็จะถูกทอดทิ้ง อย่างไร้มนุษยธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กรมสอบสวนคดีพิเศษมุ่งมั่นกระทำการตามกรอบอำนาจหน้าที่เพื่อต่อต้านขบวนการอุ้มบุญที่ผิดกฎหมายและดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดอย่างเด็ดขาด