วันนี้ (1 ก.ย. 66) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาดูแลฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลว่า ก็ไม่มีคุณสมบัติพิเศษ ในอดีตก็ไม่เคยมีการกำหนดไว้ เดิมทีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็จะดูแลในส่วนของตัวเอง เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ที่มีเรื่องของวกระทรวงตัวเอง ส่วนของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะดูแลให้
นายวิษณุ ระบุว่า สมัยที่ตนเป็นเลขาฯครม. ก็ไม่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ตนก็เป็นคนดูแลให้ ซึ่งข้าราชการประจำสามารถดูแลกฎหมายให้ได้ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็สามารถดูแลให้ได้ แต่ในระยะหลังงานมีมากขึ้น หากทุกกระทรวงมีปัญหาตนในฐานะเนติบริกรกลับต้องให้บริการนายกฯและครม.น้อยกว่าที่ให้บริการกระทรวงต่างๆ เช่น กรมศุลกากรไปจับ กรมสรรพกรไปปรับ แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กลับไม่ฟ้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันจึงต้องมีใครเข้ามาดูแล จึงเกิดรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายขึ้น ดังนั้นต่อไปในรัฐบาลหน้าหากโฉมหน้าเป็นอย่างที่ออกมา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็สามารถดูแลฝ่ายกฎหมายได้
เมื่อถามว่า ภาพลักษณ์และประวัติของตัวรัฐมนตรีจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของข้าราชการประจำหรือไม่ นายวิษณุ ขอไม่วิจารณ์ในเรื่องนี้ เพราะงานกฎหมายของรัฐบาล อยู่ในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่วนหนึ่ง สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบส่วนหนึ่ง อยู่ในสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งอัยการสูงสุดรับผิดชอบ แต่เนื่องจากไม่ได้อยู่ในอาณัติของรัฐบาล จึงเป็นลักษณะในการประสานขอความช่วยเหลือ และหากเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นเจ้าของเรื่อง แต่ตนไม่มีคำแนะนำอะไรให้กับผู้ที่จะเข้ามาดูแลฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลต่อไป
ส่วนกระแสข่าวว่ามีว่าที่รัฐมนตรี 2 คนที่มีคุณสมบัติไม่ผ่านนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า “เท่าที่ตรวจสอบตอนนี้ ไม่มีใครมีปัญหา เพียงแต่ว่ากำลังขอหลักฐานยืนยันให้ชัดเจนเท่านั้น บางอย่างหลักฐานไม่ได้มีที่เรา อยู่ที่เจ้าตัว บางอย่างหลักฐานอยู่ที่หน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เรื่องหุ้นแบบนี้ต้องการหลักฐานยืนยัน และรัฐมนตรีต้องกรอกประวัติและเซ็นชื่อรับผิดชอบ เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมาต้องรับผิดชอบ”
ส่วนประวัติเคยติดคุกหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า การตรวจสอบเบื้องต้น ไม่สามารถบอกได้ ต้องรอให้เขากรอกประวัติเซ็นรับผิดชอบมาเพื่อนำไปตรวจสอบกับหน่วยงานของรัฐ ส่วนกรณีการบกพร่องคุณธรรมจริยธรรม ไม่มีหน่วยงานไหนเช็คได้ มันเป็นนามธรรม แต่เจ้าตัวเขาจะเซ็นรับผิดชอบมา หากมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคตก็ไปถอดถอนเอา หรือถ้าใครสงสัยก็ให้ไปยื่นศาลตรวจสอบเอา ส่วนการรอเอกสารยืนยันจากว่าที่รัฐมนตรีจะไม่ทำให้กระบวนการทูลเกล้าฯรายชื่อคณะรัฐมนตรีล่าช้า แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการทูลเกล้าฯเมื่อใด เพราะยังไม่ได้หลักฐาน