คัดลอก URL แล้ว
‘ไรเดอร์’ อาชีพท่ามกลางความเสี่ยง กับข้อเรียกร้อง กองทุนเงินทดแทน

‘ไรเดอร์’ อาชีพท่ามกลางความเสี่ยง กับข้อเรียกร้อง กองทุนเงินทดแทน

จำนวนไรเดอร์กว่า 4 แสนคนในปัจจุบันที่คอยให้บริการส่งสินค้า และอาหาร หนึ่งในอาชีพที่คอยบริการมอบความสะดวกสบายให้ได้รับสินค้าโดยไม่ต้องเดินทาง ท่ามกลางความเสี่ยงบนท้องถนน พ่วงมากับคำถามที่ว่า มีสวัสดิการใดที่รองรับพวกเขาอยู่บ้าง

วานนี้ ไรเดอร์ และสมาชิกครอบครัวไรเดอร์ผู้เสียชีวิต ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน จี้ บ.แพลตฟอร์ม ให้ไรเดอร์ต้องเข้าถึงประกันอุบัติเหตุ ขอภาครัฐช่วยจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนช่วยเหลือกรณีไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุ ขาดรายได้ พิการ และเสียชีวิต

ประเด็นดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหารูปแบบแรงงานสัมพันธ์ระหว่างไรเดอร์ และบริษัทแพลตฟอร์ม ซึ่งทางบริษัทแพลตฟอร์มจ้างงานไรเดอร์ในลักษณะของแรงงานจ้างทำของ หรือแรงงานอิสระ ไม่ได้นิยามเป็น “ลูกจ้าง” หรือแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33

นางสาวสุภาพร พันธ์ประสิทธิ์ ตัวแทนไรเดอร์ ระบุว่า หากเกิดกรณีที่ไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุ ขั้นตอนขอเงินชดเชยเยียวยาจากบริษัท บริษัทจะให้ใช้ พ.ร.บ.จักรยานยนต์ฯ ก่อน และถ้ามีค่ารักษาพยาบาลนอกเหนือจากนี้ ถึงให้ใช้สิทธิรักษาพยาบาล ประกันสังคมส่วนใหญ่ มาตรา 39 และมาตรา 40 และสิทธิ์บัตรทอง ถ้าไม่มีอีก ถึงทำเรื่องของเงินชดเชยจากบริษัท โดยที่ไรเดอร์ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อน ซึ่งไรเดอร์ส่วนใหญ่ไม่มีทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน และติดปัญหาเรื่องใช้เวลานานมากในการขอเบิกเงินของบริษัท

จากข้อมูลในแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น LINE MAN หรือ GRAB 2 แพลตฟอร์มหลักของเดลิเวอรี่ในไทย พบว่า มีประกันอุบัติเหตุ และประกันรถจักรยานยนตร์ ให้แก่ไรเดอร์ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีการชดเชยรายได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทแพลตฟอร์มจะมีประกันอุบัติเหตุให้กับไรเดอร์ แต่ก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน และใช้เวลานาน จนทำให้ไรเดอร์รอไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาทำงานต่อ เพราะหากขาดรอบวิ่ง ก็ไม่มีรายได้หาเลี้ยงครอบครัว

จากข้อเรียกร้องของไรเดอร์ ได้มีการเรียกร้องเรื่องของการเยียวยาจากอุบัติเหตุ รวมทั้งตั้งกองทุนทดแทน ช่วยระหว่างพักรักษาตัว โดยสรุปได้ดังนี้

  1. ขอให้ภาครัฐช่วยเจรจากับบริษัทแพลตฟอร์ม ให้มีการอำนวยความสะดวกและเยียวยาไรเดอร์ที่ประสบอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงาน
  2. ขอให้มีการตั้งกองทุนเงินทดแทนช่วยเหลือไรเดอร์ ระหว่างพักรักษาตัวจากอุบัติเหตุ และไม่สามารถไปทำงานได้
  3. เงินเยียวยาถ้ากรณีไรเดอร์เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ การจ้างงานไรเดอร์ในฐานะแรงงานอิสระ ใช้คำว่า “พาร์ทเนอร์” โดยที่ไม่ได้นิยามเป็นลูกจ้าง ทำให้ไรเดอร์ประสบปัญหา เข้าไม่ถึงสิทธิแรงงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ตามหลักเสี่ยงภัยอันเกิดจากการทำงาน และบริษัทแพลตฟอร์มจะไม่ถูกบังคับต้องรับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนความเสียหายแก่ลูกจ้าง หรือไรเดอร์ เกี่ยวกับอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยด้วยโรค หรือการเสียชีวิตอันเกิดจากการทำงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดขึ้นตามกฎหมายเงินทดแทนลูกจ้าง

‘ไรเดอร์’ หนึ่งในอาชีพหลักที่มอบความสะดวกสบายและการบริการที่ดูเหมือนจะขาดไปไม่ได้ในวันนี้ กลับกลายเป็นว่า กลุ่มแรงงานกว่า 4 แสนคน ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงบนท้องถนน ไม่มีสิ่งใดการันตีได้เลยว่า พวกเขาจะได้รับสวัสดิการ และค่าชดเชยที่เข้าถึงได้ เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตพวกเขาเมื่อยามที่ประสบอุบัติเหตุ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง