บริเวณทางออกประตู 4 หน้าห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดจำลองห้องนายสถานีชุมทางบางซื่อมาจัดแสดง มีผู้โดยสารที่รอซื้อตั๋วโดยสารและรอขึ้นรถไฟให้ความสนใจจำนวนมาก
โดยเป็นจำลองการจัดแสดงของเก่าที่เคยใช้งานได้จริง เช่น ระฆังรถไฟ ที่ใช้บอกสัญญาณก่อนที่รถไฟจะเข้าสถานี เพื่อบอกให้ผู้โดยสารที่กำลังรอรถไฟได้รู้ว่ารถไฟกำลังจะถึงสถานีแล้ว เนื่องจากในสมัยโบราณไม่มีเครื่องขยายเสียงใช้เพื่อประกาศให้ผู้โดยสารทราบ จึงใช้เสียงของระฆังแทน
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างตั๋วรถไฟรุ่นเก่าที่อยู่ในตู้ เครื่องแสตมป์ตั๋ว เครื่องโทรพิมพ์ โดยจัดแสดงพร้อมคำอธิบายและคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ผู้สนใจได้รับทราบข้อมูล
ส่วนด้านนอกก็มีเก้าอี้ซึ่งเป็นเก้าอี้ทรงคลาสสิกอายุกว่า 100 ปี หรือที่คนรถไฟเรียกว่า “เก้าอี้ทรงไข่” จัดวางไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับประชาชน สำหรับพักนั่งคอย ก่อนที่จะโดยสารรถไฟต่อไป
ผู้โดยสารส่วนใหญ่บอกว่าชื่นชอบแนวคิดนี้และต้องการให้สถานีรถไฟในต่างจังหวัด มีการจัดแสดงในลักษณะนี้ เพื่อเป็นการให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์แก่ประชาชน
นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ห้องนายสถานีเดิมที่สถานีบางซื่อถูกรื้อย้ายออก จึงต้องการนำของเก่าที่เหลือออกมาซ่อมแซม ปรับปรุง เพื่อเป็นสิ่งของทางประวัติศาสตร์ของการรถไฟฯ ให้ประชาชนที่สนใจได้ชม และหวังให้เป็นจุดแลนด์มาร์กใหม่กับนักท่องเที่ยว เพื่ออนุรักษ์งานไม้โบราณไว้ให้ลูกหลานคนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
ส่วนเก้าอี้รูปไข่นั้น จุดเริ่มต้นเกิดจากผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย เดินทางไปดูงานที่สถานีรถไฟในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และพบเห็นเก้าอี้ถูกทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งาน บางส่วนมีสภาพเสียหาย ไม่สามารถนำมาให้ผู้โดยสารใช้งานได้ จึงเกิดไอเดียที่จะนำเก้าอี้ทรงไข่จากสถานีรถไฟทั่วประเทศ กลับมาคืนชีพซ่อมบำรุงและนำมาวางไว้ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยเก้าอี้รูปไข่มีทั้งหมด 27 ตัว ซึ่งอุปกรณ์การและการซ่อมบำรุงทั้งหมดไม่ได้ใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะใช้แรงงานที่เป็นพนักงานของการรถไฟฯ