วันนี้ (22 ส.ค.66) การประชุมรัฐสภามีวาระสำคัญในการพิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคฯ ได้เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี
ประวัติ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ว่าที่นายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย
นายเศรษฐา ทวีสิน เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 ชื่อเล่น นิด เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หนึ่งในบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไทยในปี พ.ศ. 2566 ของพรรคเพื่อไทย
เป็นบุตรคนเดียวของของร้อยเอกอำนวย ทวีสิน กับ ชดช้อย ทวีสิน (สกุลเดิม จูตระกูล) บิดาของเศรษฐาเสียชีวิตตั้งแต่เศรษฐาอายุเพียง 3 ปี ซึ่งเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะ ตระกูลทวีสินเป็นหนึ่งในตระกูลที่มีความเกี่ยวข้องกับสายเครือญาติ 5 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย อันได้แก่ ตระกูลยิบอินซอย จักกะพาก จูตระกูล ล่ำซำ และ บูรณศิริ ซึ่งเป็นสายสกุลของเศรษฐา ทวีสิน กับ ชดช้อย ทวีสิน (สกุลเดิม จูตระกูล)
ในปี 2532 เศรษฐาสมรสกับ พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญความงามด้านผิวพรรณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีบุตรธิดา 3 คน
การศึกษา
- ระดับประถม : โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
- ระดับไฮสกูล : ไปศึกษาต่อที่สหรัฐ
- การศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสสาชูเซ็ตส์ (University of Massachusetts)
- ปริญญาโทในสาขาบริหารธุรกิจด้านการเงินจาก บัณฑิตวิทยาลัยแคลมอนต์ (Claremont Graduate School) ของสหรัฐ
การทำงาน
หลังเรียนจบในปี พ.ศ. 2529 นายเศรษฐา กลับมาทำงานที่ประเทศไทยในบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เคลื่อนไหวเร็ว ก่อนที่จะไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับนายอภิชาติ จูตระกูล ผู้เป็นญาติในชื่อ บริษัท แสนสำราญ จำกัด (ชื่อเดิมของแสนสิริ) ในปี พ.ศ. 2533
ในวันที่ 8 มีนาคม 2566 นายเศรษฐา ได้ทำรายการโอนหุ้นของ SIRI จำนวน 661 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 4.44% ที่ถืออยู่ทั้งหมดให้กับ ชนัญดา ทวีสิน บุตรคนเล็ก และลาออกจากตำแหน่ง ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมทั้งทุกตำแหน่งในฐานะกรรมการบริษัท และกรรมการชุดย่อยของบริษัท เพื่อเข้าสู่งานการเมืองอย่างเต็มตัว
ด้านการเมือง
ก่อนหน้าที่จะเข้ามาสู่เส้นทางการเมืองกับทางพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ได้เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองอยู่เรื่อย ๆ ทั้งปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมองว่ารัฐบาลของลุงตู่ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้
ในเดือน พ.ย.65 นายเศรษฐา ได้สมัครเป็นสมาชิกครอบครัวเพื่อไทย และในเดือนมีนาคม 66 นั่งตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยให้กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ.66 พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ นายเศรษฐา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพร้อมกับอีกสองคน ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ นายชัยเกษม นิติสิริ
ก่อนที่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน ผ่านการโหวตได้รับความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศ