เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2566 โรงแรมปริ๊นส์ตั้น พาร์ค สวีท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โคแฟค ประเทศไทย (Cofact Thailand) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพทีมบุคลากรสุขภาพ “อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครกับการรับมือข่าวลวงในสื่อออนไลน์”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ในยุคดิจิทัลการพัฒนาคนในสังคมให้เป็นทั้งผู้ส่งสาร และรับสารที่มีทักษะเท่าทันสื่อ ควบคู่ไปกับการมีทักษะรอบรู้ด้านสุขภาพ จะทำให้ประชาชนมีความรอบรู้การใช้สื่อเพื่อสุขภาวะ นำไปสู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่อย่างเท่าทัน บุคลากรด้านสุขภาพ สหวิชาชีพ บุคลากรท้องถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ถือเป็นกำลังคนด้านสุขภาพ ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยเฉพาะ อสม. และอสส. ที่เป็นตัวแทนของภาคประชาชนในระดับพื้นที่นั้น มีบทบาทเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพในการตรวจสอบข่าวลวง แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี เป็นกระบอกเสียงสื่อสารช่องทางข้อมูลที่ถูกต้องให้ชุมชน ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข จึงถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับ และขยายผลเครื่องมือ องค์ความรู้ นวัตกรรมด้านการเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลในชุมชน หมู่บ้านได้
นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักอนามัย ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาศักยภาพตนเอง ดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ในรูปแบบของ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) มีจำนวนมากกว่า 12,000 คน ครอบคลุมทั่ว กทม. มีบทบาทสำคัญป้องกันโรคเชิงรุก ที่ให้ความสำคัญกับระบบบริการปฐมภูมิ สามารถแบ่งปันความรู้ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ระหว่างกัน กระจายความสามารถ ในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ทั่วถึง และเท่าเทียมผ่านการรักษา ด้วยระบบแพทย์ทางไกล ซึ่งสำนักอนามัยได้นำระบบดังกล่าว มาใช้ในศูนย์บริการสาธารณสุข ครอบคลุมการดูแลรักษาพยาบาล ลดความแออัดของผู้ป่วยที่มารับบริการ เชื่อมประสานระหว่างชุมชนกับศูนย์บริการสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี การอบรมให้ อสส. รู้ทันข่าวลวงจึงเป็น กลไกสำคัญในการยกระดับ และขยายผลเครื่องมือ องค์ความรู้นวัตกรรม ด้านการเท่าทันสื่อสารสนเทศ และดิจิทัลในชุมชน ให้กับ อสส. และทีมบุคลากรสุขภาพของสำนักอนามัยอย่างมีประสิทธิภาพ
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่าผลกระทบของข่าวลวง ข้อมูลเท็จด้านสุขภาพ 1. ด้านสังคม สร้างความสับสน ความเข้าใจผิด นําไปสู่ความรุนแรง 2. ด้านความน่าเชื่อถือ ระบบสาธารณะสุขเสียความน่าเชื่อถือ 3. ด้านเศรษฐกิจ เพิ่มภาระให้กับระบบสาธารณสุข 4.ด้านบุคคล เสียสุขภาพ เจ็บป่วย เสียชีวิต ในการตรวจสอบข่าวลวง จะต้องสืบหาต้นตอ วิเคราะห์ที่มา ตรวจสอบเนื้อหา สิ่งที่ อสส. ที่เข้าไปให้ข้อมูลกับประชาชนโดยตรงจะต้องคำนึง 1.มีความรู้ความเข้าใจ ลองเช็กความเข้าใจ ความเชื่อ 2. วิเคราะห์แหล่งข้อมูลของผู้ส่ง 3. ยกตัวอย่างข้อมูลที่แชร์ และ หยิบยื่นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ 4. ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย 5. กล้าที่จะแก้ไขข้อมูลเท็จ ตักเตือน คนที่แชร์ข่าวลวงด้วยความสุภาพ เป็นการหยุดยั้งการแพร่ข่าวลวง ซึ่งแนวคิดของโคแฟค เชื่อว่าการแก้ปัญหาข่าวลวงในยุคดิจิทัลคือ การทำให้ทุกคนกลายเป็นคนตรวจสอบข่าว และสร้างพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกัน เปิดเวทีให้มีตลาดทางความคิดเห็นที่หลากหลาย แยกแยะข้อเท็จจริง เพื่อสร้างสุขภาวะร่วมกันของสังคม