คัดลอก URL แล้ว
ทนาย เผย “ไอซ์ ปรีชญา” ไม่กังวล ปมคดีใช้ไซยาไนด์ผิดวัตถุประสงค์

ทนาย เผย “ไอซ์ ปรีชญา” ไม่กังวล ปมคดีใช้ไซยาไนด์ผิดวัตถุประสงค์

วันนี้ 16 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมตัวแทนฝ่ายกฎหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เดินทางมายังศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ป. เพื่อยื่นเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษกับกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องการนำเข้า จำหน่าย ซื้อขายสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ สารเคมีอันตราย รวมถึงผู้ที่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยหนึ่งในผู้ที่จะถูกดำเนินคดี พบว่ามี “ไอซ์ ปรีชญา พงษ์ธนานิกร” นางเอกชื่อดัง รวมอยู่ด้วย

ล่าสุดทางทีมข่าวโมโน 29 ได้ติดต่อสอบถามไปยังทนาย “ไอซ์ ปรีชญา พงษ์ธนานิกร” นางเอกชื่อดัง ถึงความคืบหน้ากรณีดังกล่าว โดยทางทนายได้เผยกับผู้สื่อข่าวว่า เตรียมข้อมูลและเอกสารไว้แล้ว ขณะนี้ได้แต่รอให้เจ้าหน้าที่แจ้งรายละเอียดมาว่าเป็นความผิดในข้อหาใด แต่เท่าที่ทราบมาคือกรมโรงงานอุตสาหกรรม น่าจะไปแจ้งตั้งข้อหาว่ากรณีของ “ไอซ์ ปรีชญา” คือซื้อไซยาไนด์มาใช้ผิดประเภท หรือนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมาสู้กันอีกที เพราะซื้อมาแต่ยังไม่ได้มีการนำไปใช้ ส่วนทางด้าน “ไอซ์ ปรีชญา” นั้น ไม่กังวล และพร้อมที่จะให้ข้อมูลเพราะอยากให้จบเรื่องสักที เนื่องจากมีผลกระทบกับงาน เพราะทุกอย่างยังคลุมเครือ

สำหรับการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่งตัวแทนมาเข้าแจ้งความร้องทุกข์ครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีของ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอมไซยาไนด์ ฆาตกรต่อเนื่อง ที่ก่อเหตุใช้ไซยาไนด์ผสมอาหารน้ำดื่มวางยาฆ่าเหยื่อ 14 ศพ จนทำให้ต้องมีการขยายผลตรวจสอบแหล่งที่มา การนำเข้า การซื้อขาย และ ผู้ที่ซื้อไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก่อนพบว่ามีผู้กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 45 (4) จำนวนมากจนนำมาสู่การส่งตัวแทนเข้าแจ้งดำเนินคดีในวันนี้

โดยกลุ่มผู้ที่จะถูกดำเนินคดีแบ่งเป็น ผู้นำเข้า 1 ราย ตัวแทนจำหน่าย 4 ราย และ ผู้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จำนวน 31 ราย

สำหรับการครอบครอง “ไซยาไนด์” โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่ง “สารไซยาไนด์” มีพิษร้ายแรงมาก เมื่อรับสารพิษเข้าไปแม้เพียงนิดเดียว อวัยวะในระบบประสาทส่วนกลาง ตับ ไตและระบบหัวใจจะได้รับผลกระทบทันที อาการแรกที่ปรากฏหลังได้รับสารนี้เข้าไป คือ หายใจติดขัด ตามด้วยอาการชักและหมดสติ ซึ่งอันตรายมาก อาจเสียชีวิตในทันทีหากรับสารพิษนี้เข้าไปเป็นเวลานานติดต่อกันตั้งแต่ 1 – 15 นาที

“ไซยาไนด์” จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 ประกอบมาตรา 73 “ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 มาตรา 73


ข่าวที่เกี่ยวข้อง