ยิ่งกว่าบทละครคงหนีไม่พ้นสถานการณ์การเมือง ที่มีประเด็นร้อนแรงไม่เว้นในแต่ละวัน นับตั้งแต่หลังเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ความหวังจากประชาชนที่ต้องการรัฐบาลที่มาจากประชาชนโดยแท้จริง เพื่อลบภาพจำจากขั้วการเมืองเดิมที่มาจากพรรคของลุง ๆ
แสงความหวังดูเมื่อจะส่องสว่างมากขึ้นเมื่อพรรคอันดับ 1 เป็นพรรคก้าวไกล และพรรคอันดับ 2 คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็น 2 พรรคที่แนวทางต่าง ๆ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่อาจแตกต่างกันในบางมุมมองทางการเมือง จนถูกมองว่าเป็น ‘พรรคพี่น้องกัน’
ทำให้ทั้ง 2 พรรค ต้องจับมือร่วมกันเป็นข้าวต้มมัด ด้วยความหวังจากเสียงของประชาชนที่เลือกมา นำไปสู่การจับมือกับอีก 6 พรรค ก่อเกิดเป็นการลงนาม MOU ในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล ด้วยจำนวนรวม ส.ส. 312 คน
พรรคก้าวไกล จึงมีบทบาทสำคัญในการเดินเกมจัดตั้งรัฐบาล ในฐานะพรรคอันดับ 1 ส่งผลทำให้พรรคเพื่อไทยที่คาดหวังไว้ก่อนเลือกตั้งจะได้แลนด์สไลด์กว่า 300 เสียง ต้องเป็นฝ่ายเดินตาม เนื่องด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของการเมืองไทย
แม้ฝั่ง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ต้องการคะแนนสนับสนุนจาก ส.ว. ในการโหวตนายกฯ ที่ทางพรรคก้าวไกลเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ แต่เมื่อถึงวันโหวตจริงก็ไม่เป็นดั่งที่หวังไว้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าฝั่ง ส.ว. ส่วนใหญ่ ไม่โหวตให้อย่างแน่นอน อันเนื่องมาจากนโยบายของพรรคก้าวไกล ในการผลักดันแก้ไข มาตรา 112
ท้ายสุดพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในฐานะแกนนำ จึงส่งไม้ต่อให้กับพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน แต่ติดตรงที่ยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ในสมการจัดตั้งรัฐบาล สุดท้ายพรรคเพื่อไทยต้องยอมฉีก MOU ถีบส่งพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน เพื่อเป็นเหตุผลให้ ส.ว. โหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยในที่สุด
ช่วงก่อนเซ็น MOU 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
- 15 พ.ค.2566
หลังผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งคะแนนเสียงถูกเทไปทางฝั่งพรรคก้าวไกล จนได้เป็นพรรคอันดับ 1 ด้วยคะแนนเสียง 151 เสียง ทางพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคอันดับ 2 ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกล
“ผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฎแล้วว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่ง พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอันดับสอง พรรคเพื่อไทยขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และร่วมสนับสนุนเลือกพรรคเพื่อไทยและฝ่ายประชาธิปไตยอย่างท่วมท้น อันแสดงถึงความต้องการของพี่น้องประชาชนในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ในโอกาสนี้ พรรคเพื่อไทยขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคอันดับหนึ่ง
โดยกติกาประชาธิปไตย และโดยสัญญาประชาคมที่พรรคเพื่อไทยได้เคยแถลงต่อพี่น้องประชาชนไว้ พรรคเพื่อไทยขอแสดงความยินดี และยอมรับที่พรรคก้าวไกลเสนอตัวเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเห็นด้วยที่พรรคก้าวไกลจะเชิญพรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตยเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลตามที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้แถลงไว้ พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่า ไม่มีแนวความคิดที่จะจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ในการจัดตั้งรัฐบาล ประเด็นในการหารือ และกระบวนการต่างๆ ให้เป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายดำเนินการ จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน”
- 17 พ.ค.2566
พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นัดหารือกับอีก 5 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม ถึงแนวในการจัดตั้งรัฐบาล ก่อนจะมีอีก 2 พรรคเข้าร่วมด้วยคือ พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 เสียง และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง รวมเป็น 8 พรรค 313 เสียง
“การจัดตั้งรัฐบาลของผม มีเอกภาพ ชัดเจน และมีแผนงานเป็นรูปเป็นร่าง ขอประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ นักลงทุน และมิตรประเทศ สบายใจในเสถียรภาพและศักยภาพประเทศไทย”
นายพิธา โพสต์ภาพ-ข้อความ ผ่าน IG หลังการหารือกัน 5 พรรค
- 22 พ.ค.2566
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยแกนนำจากพรรคเพื่อไทย / พรรคประชาชาติ / พรรคไทยสร้างไทย / พรรคเสรีรวมไทย / พรรคเพื่อไทรวมพลัง / พรรคเป็นธรรม และ พรรคพลังสังคมใหม่ ร่วมลงนาม MOU ร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีวาระร่วมกันจำนวน 23 ข้อ ซึ่งจะมีเสียง ส.ส. รวมกัน จำนวน 313 เสียง
ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ทางพรรคก้าวไกลจะดำเนินการผ่านรัฐสภา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยื่นต่อสภาแล้วแต่ไม่ถูกบรรจุเป็นวาระ ครั้งนี้การแก้ไขมาตรา 112 เป็น 1 ใน 45 กฎหมายที่พรรคเสนอแก้ไข
หลังเซ็น MOU 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
- 23 พ.ค.2566
เกิดกระแสข่าวลือที่ว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจลาออก เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ไปซบพรรคเพื่อไทย เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล
“ยืนยันว่า ไม่ทราบข่าวลือ ข่าววิเคราะห์ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์ หรือข้อเท็จจริง หากเกิดการยุบรวมพรรคพลังประชารัฐ และชิงการจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคก้าวไกล ยืนยันครั้งที่ 501 ว่า ยึดมั่นตามเจตนารมณ์ สนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯคนที่ 30 และร่วมมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลให้ได้”
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หน้าพรรคเพื่อไทย
- 22-24 พ.ค.2566
เกิดความระหองระแหง ระหว่าง น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กับทาง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หน้าพรรคเพื่อไทย ปมคำถามเรื่อง Advance MOU ที่ น.ต.ศิธา ได้ถามในวันแถลงข่าวลงนาม MOU 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
- 5 มิ.ย.2566
‘เพื่อไทย’ แจงปมการสลับขั้วตั้งรัฐบาล
“ผมขอเรียนยืนยันอย่างหนักแน่นในจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่ผมเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้บริหารว่า..พรรคเพื่อไทยยืนยันในจุดยืนที่ชัดเจนที่ประกาศต่อสาธารณะหลายครั้ง ว่าเราจะไม่จัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล แม้ว่าเราจะเป็นพรรคอันดับสอง
ผมและพรรคเพื่อไทยมีท่าทีหลายครั้งที่ชัดเจนว่าเรายืนยันที่จะสนับสนุนและผลักดันให้การจัดตั้งรัฐบาล ของพรรคก้าวไกลและ 8 พรรคร่วม ที่ได้แถลงอย่างชัดเจนว่าจะจับมือกันและสนับสนุนให้คุณพิธาซึ่งเป็นแคนดิเดทนายกฯ ของพรรคแกนนำได้บรรลุเป้าหมายจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ”
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก
…
นอกจากนี้ในระหว่างนั้นประเด็นที่มีการพูดคุยและไม่ลงตัวระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย คือเรื่องตำแหน่งประธานสภา ที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม โดยทางฝั่งพรรคก้าวไกลมองว่าพรรคอันดับที่ 1 ควรจะได้รับตำแหน่งนี้ด้วยเช่นกัน ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ยังเห็นต่างในกรณีนี้
- 21 มิ.ย.2566
“เราไม่สามารถให้ตำแหน่งประธานสภาฯ แก่พรรคก้าวไกล เพราะคุณได้เพียง 151 เสียง หากมีความขัดแย้งก็ให้โหวตในสภาฯ ศักยภาพคนของพรรคเพื่อไทยเหมาะสมมากกว่า ไม่อยากเห็นสามเณรบวชใหม่มาเป็นเจ้าอาวาส อย่ายอมให้เขาง่ายๆ คนที่ออกมาห่วงใยก้าวไกลอยากถามว่า คุณเป็นก้าวไกลหรือเพื่อไทย ประธานสภาฯ ควรเป็นของพรรคเพื่อไทย โดยศักยภาพ พรรคก้าวไกลต้องถอนออก จะทำให้รัฐบาลผสมสามารถเดินทางไปสู่การทำงานร่วมกันได้ แต่ปัญหาแก้ไม่ได้เหมือนหินอยู่ในรองเท้า”
นายอดิศร เพียงเกษ ให้สัมภาษณ์ในงานสัมมนาของพรรคเพื่อไทย
ประเด็นประธานสภาสุดท้ายไปจบที่คนกลาง คือการดัน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภา และให้คนของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย นั่งตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 2 และ 3 ตามลำดับ
หลัง ‘พิธา’ โหวตนายกฯไม่ผ่านครั้งแรก
- 13 ก.ค.2566
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 375 เสียง ส่งผลทำให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
- 14 ก.ค.2566
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ภายหลังที่ประชุมรัฐสภา มีมติ ไม่เห็นชอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี รอบแรก
“การโหวตรอบที่ 2 จะเสนอเปลี่ยนนายกหรือไม่นั้น อยู่ที่การพูดคุย ในพรรคเพื่อไทยทำ MOU ชัดเจนสนับสนุนพรรคก้าวไกลจนสุดความสามารถ เชื่อว่า 8 พรรคร่วม จะคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น แต่หากวันที่ 19 ก.ค. นายกไม่ใช่ชื่อพิธา และไม่ได้ใช่ชื่อที่อยู่ใน 8 พรรคร่วม นั่นหมายความว่าความหวัง ความต้องการของพี่น้องประชาชนถูกทำลาย”
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
- 15 ก.ค.2566
พรรคก้าวไกล ประกาศเดินเกมการเมืองด้วยแผน 2 สมภูมิ คือ 1. การโหวตนายกฯ รอบที่ 2 และ 2. การยื่นเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ
“หากพวกเราทำเต็มที่ใน 2 สมรภูมินี้แล้วเป็นที่ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้จริง ๆ ตนพร้อมเปิดโอกาสให้ประเทศไทย โดยเปิดทางให้พรรคอันดับสอง คือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ภายใต้ MOU ที่ทำร่วมกันไว้”
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
โหวตนายกฯ รอบ 2 ล่ม เหตุมติสภาไม่เห็นด้วยเสนอชื่อซ้ำ
- 19 ก.ค.2566
เป็นวันโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 โดยระหว่างการอภิปรายในสภา ถึงกรณีการเสนอญัตติซ้ำ ในการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องกกต. สั่ง “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.
หลังจากที่มีการอภิปรายกว่า 6 ชั่วโมง ในประเด็นการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ นั้นเป็นการเสนอญัตติซ้ำอีกครั้งได้หรือไม่ ผิดตามข้อบังคับฯ ที่ 41 หรือไม่ ซึ่งได้มีการอภิปรายในกรอบข้อบังคับฯ ข้อที่ 151 ให้รัฐสภาลงมติวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว
มีคะแนนเสียงเห็นด้วย 395 เสียง ไม่เห็นด้วย 312 คน งดออกเสียง 8 คน ซึ่งคะแนนเห็นด้วยว่า ญัตติดังกล่าว เป็นญัตติต้องห้ามตามข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 เกินกึ่งนึงจึงไม่สามารถจะเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ ในสมัยประชุมนี้
- 20 ก.ค. 2566
นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุมี 3 แนวทาง หลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้ความเห็นชอบจากรัฐสภา ในการเสนอชื่อซ้ำเพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี
“ทางไม่ตันง่ายๆ ทุกวันนี้มี 3 แนวทาง คือ กอดกัน 8 พรรคไปเป็นฝ่ายค้าน, สานฝันประชาชนด้วยการเป็นรัฐบาล มีเพื่อไทยเป็นแกนนำ แต่ต้องยอมกลืนเลือดแยกทางก้าวไกล และทางสุดท้าย ยังรวมกัน 8 พรรค แต่ต้องคุยกับ สว.และก้าวไกล ในเงื่อนไขที่ยังติดใจ เช่น ลดท่าที ม.112 หรือลดท่าทีแข็งกร้าว ซึ่งต้องคุยกับก้าวไกลว่ารับได้หรือไม่กับข้อเสนอนี้”
นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
- 21 ก.ค.2566
พรรคก้าวไกล โดยนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าว ส่งไม้ต่อ “เพื่อไทย” ตั้งรัฐบาล
“เมื่อเป็นเช่นนี้พรรคก้าวไกลจะเปิดโอกาสประเทศไทย ให้พรรคอันดับสองคือพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ของพันธมิตร 8 พรรคร่วม ดังนั้นในการประชุมรัฐบาลครั้งต่อไปครั้งต่อไปพรรคก้าวไกล จะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐมนตรีคนที่ 30 เช่นเดียวกันที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุนพรรคก้าวไกล”
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล
‘เพื่อไทย’ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สู่การฉีก MOU
- 22-23 ก.ค.2566
หลายพรรคการเมืองจากฝั่งขั้วรัฐบาลเดิม ทั้ง พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ เข้าหารือกับทางพรรคเพื่อไทย โดยทุกพรรคมีจุดยืนสำคัญคือไม่แตะ ม.112
การหารือของพรรคการเมืองในครั้งนั้น เกิดกระแส ‘ช็อกมินต์’ ที่เป็นเมนูเครื่องดื่มของคาเฟ่จากพรรคเพื่อไทยเสิร์ฟรับรองแกนนำพรรคต่าง ๆ จนเกิดแฮชแท็ก #เมนูหักหลังเพื่อน
- 25 ก.ค.2566
แหล่งข่าวจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยถึงการเลื่อนการหารือของ 8 พรรคการเมือง ว่า ทางพรรคเพื่อไทยได้แจ้งไปยังทั้ง 7 พรรคขอยกเลิกการพูดคุยดังกล่าว ส่วนสาเหตุในการยกเลิกยังไม่แน่ใจ คาดว่าอาจรอดูสถานการณ์อีกครั้ง และคาดว่าพรรคเพื่อไทยอาจยังคุยกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ไม่ลงตัว
- 2 ส.ค.2566
พรรคเพื่อไทยแถลงเริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม หลังการหารือกัน 2 พรรค ระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล
“พรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ทวีสิน ขอยืนยันชัดเจนว่า เราจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม พรรคเพื่อไทยจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียง ให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม และพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านและยืนยันจะทำงานการเมืองในมิติใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน ในภารกิจที่สำคัญ”
ข้อความบางส่วนในแถลงการณ์ ของพรรคเพื่อไทย
- 2 ส.ค.2566
‘ก้าวไกล’ แถลงขอโทษประชาชน ตั้งรัฐบาลตามเจตจำนงไม่ได้ ยัน ‘เพื่อไทย’ ไม่เคยเจรจาให้ถอย ม.112 เลย
“ในการพูดคุยกันกับพรรคเพื่อไทย ไม่ได้มีการขอให้พรรคก้าวไกลพิจารณาถอยเรื่องการเสนอมาตรา 112 และตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคย มีการเจรจากันเรื่องนี้ พรรคเพื่อไทยให้เหตุผลว่า พรรคการเมืองเกือบทั้งหมดที่พรรคเพื่อไทยไปพูดคุยไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะมีเรื่อง ม.112 หรือไม่ก็ตาม”
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล