ภายหลังจากเกิดการรัฐประหารในประเทศไนเจอร์เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกลุ่มทหารองครักษ์ของประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด บาซูม ได้ควบคุมตัวผู้นำประเทศและประกาศยึดอำนาจ ส่งผลให้หลายประเทศได้ส่งสัญญาณประณามการกระทำที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะในกลุ่มชาติตะวันตกเช่น สหรัฐ ฝรั่งเศส เนื่องจากไนเจอร์ถือเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรที่สำคัญในภูมิภาค และมีฐานทัพของทั้งสหรัฐฯ และฝรั่งเศสอยู่ในประเทศไนเจอร์ ซึ่งอยู่ในระหว่างแผนการถอนกำลังจากภูมิภาคในภารกิจรักษาเสถียรภาพและความมั่นคง แต่ภายหลังหลังจากที่มีการยึดอำนาจจากประธานาธิบดี บาซูมของไนเจอร์แล้ว ผู้นำทางทหารของไนเจอร์ได้ประกาศปิดพรมแดน และห้ามไม่ให้ต่างชาติแทรกแซงกิจการในประเทศ จึงส่งผลให้การถอนกำลังทหารของทั้งสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอีกหลายชาติ รวมกว่า 1 หมื่นนายในภูมิภาคต้องหาทางออกใหม่ เนื่องจากตามแผนเดิมนั้นจะถอนกำลังกลับมายังไนเจอร์ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศ
…
ECOWAS ให้เวลา 7 วันไม่เช่นนั้นจะมีการแทรกแซงทางทหาร
ในเวลาต่อมา บรรดาผู้นำประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งชาติแอฟริกาตะวันตก หรือ ECOWAS ที่มีชาติสมาชิก 15 ประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังจากการประชุมวาระเร่งด่วนที่ประเทศไนจีเรีย โดยมีมติให้ผู้นำทางทหารคืนอำนาจให้กับประธานาธิบดี บาซูม ภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นจะต้องเผชิญการแทรกแซงจากต่างประเทศ
ถือเป็นการประกาศใช้กำลังทางการทหารของกลุ่มประเทศสมาชิก ECOWAS ต่อไนเจอร์ ในขณะที่สหภาพยุโรปได้แถลงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ที่จะยุติการสนับสนุนความช่วยเหลือและความร่วมมือกับไนเจอร์อย่างไม่มีกำหนด พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวประธานาธิบดีบาซูม และครอบครัวด้วย นอกจากนี้ ยังได้ประกาศว่า สหภาพยุโรปสนับสนุนการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นต่อไนเจอร์ของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งชาติแอฟริกาตะวันตก หรือ ECOWAS ด้วย
ซึ่งในเวลาต่อมา ผู้นำคณะรัฐประหารของไนเจอร์ ได้ประกาศยุติการส่งออกทองคำและยูเรเนียมไปยังฝรั่งเศส คำประกาศดังกล่าวถือเป็นข่าวร้ายกับฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป เนื่องจากเกือบ 25% ของยูเรเนียมที่ผลิตได้จากประเทศไนเจอร์นั้น ถูกส่งออกไปยังชาติในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส ที่ได้รับอนุญาตให้ขุดแร่ยูเรเนียมมาตั้งแต่ปี 1970 และยูเรเนียมเกือบ 40% ที่ใช้ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของฝรั่งเศสก็มาจากประเทศไนเจอร์เช่นกัน
…
บูร์กินาฟาโซ-มาลี เตือน แทรกแซงไนเจอร์ เท่ากับประกาศสงคราม
ภายหลังจากที่ กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตกสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศมติในที่ประชุมขีดเส้นตายกับผู้นำรัฐประหารในไนเจอร์ และพร้อมใช้กำลังทหารแทรกแซง ทำให้ทั้งบูร์กินาฟาโซและมาลีได้ออกแถลงการณ์ประกาศว่า
การแทรกแซงใด ๆ จากต่างชาติต่อประเทศไนเจอร์ จะถือเป็น “การประกาศสงคราม” กับทั้งสองประเทศด้วย
พร้อมกันนี้ ทั้งสองประเทศยังประกาศไม่ร่วมการคว่ำบาตรต่อไนเจอร์เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ด้วย
ในเวลาต่อมา ประธานาธิบดี Mamady Doumbouya ของกินีได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การคว่ำบาตรและแทรกแซงของกลุ่มประเทศ ECOWAS นั้นไม่ใช่ทางออกของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และจะนำไปสู่วิกฤติด้านมนุษยชนที่อาจจะขยายตัวออกไปนอกประเทศไนเจอร์ได้
…
ผู้สนับสนุนรัฐประหารในไนเจอร์ประท้วงต้านฝรั่งเศส
สถานการณ์ในประเทศไนเจอร์นั้น กลุ่มผู้สนับสนุนการรัฐประหารยังคงออกมารวมกลุ่มกันสนับสนุนการยึดอำนาจในครั้งนี้ รวมถึงการเผาธงชาติฝรั่งเศส พร้อมทั้งตะโกนถ้อยคำต่อต้านฝรั่งเศส โดยผู้นำการชุมนุมได้ระบุว่า
“เรามียูเรเนียม เพชร ทองคำ น้ำมัน แต่เรายังคงใช้ชีวิตเหมือนทาส! เราไม่ต้องการฝรั่งเศสมาดูแลเรา”
ก่อนที่ในเวลาต่อมาสถานการณ์จะบานปลายสู่การบุกเข้าไปยังสถานทูตฝรั่งเศส และมีการเผาข้าวของเกิดขึ้นในที่สุด ทำให้กำลังทหารของไนเจอร์ต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ในขณะเดียวกัน มีการชูธงชาติของรัสเซียในการประท้วง จึงทำให้ชาติตะวันตก รวมถึงสหภาพยุโรป กังวลใจต่อท่าทีที่เกิดขึ้นนี้ ว่า รัสเซียกำลังเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น รวมถึงกลุ่มทหารรับจ้างอย่าง วากเนอร์ ด้วย
ความเกลียดชังต่อฝรั่งเศสนั้นฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน เนื่องจากไนเจอร์ถือเป็นชาติอาณานิคมของฝรั่งเศส จนถึงปี 1960 ที่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสก็ยังคงมีฐานทัพและกำลังทหารอยู่ในประเทศไนเจอร์
ทำให้กระแสของการประท้วงต่อต้านฝรั่งเศสในประเทศไนเจอร์มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในระยะหลังที่รัสเซียได้เปิดฉากโจมตีต่อยูเครน
ข้อมูล :
- https://twitter.com/Colonel_Maiga/status/1686113108643717120
- https://twitter.com/Presidence_gn/status/1686147081675644929